คุณแม่ตั้งครรภ์ ดูแลตัวเองยังไงช่วงโควิด-19

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 สำหรับคนท้องหรือคุณแม่ตั้งครรภ์ ความเสี่ยงในการรับเชื้อไม่ได้มากไปกว่าคนปกติ เพียงแต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ติดเชื้อโควิด-19  จะส่งผลให้อาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

คุณแม่ตั้งครรภ์หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีความรุนแรงมากกน้อยแค่ไหน

  • คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาส 3 ถือเป็นระยะเวลาที่ต้องระวังอย่างมาก เนื่องจากขนาดของมดลูกจะค่อนข้างโต ทำให้ปอดของคุณแม่ขยายตัวได้ไม่ดี หากได้รับเชื้อ จึงมักพบอาการที่รุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะปอดอักเสบสูง
  • เมื่อคุณแม่มีภาวะปอดอักเสบ ผลกระทบตามมาคือทารกในครรภ์จะได้รับออกซิเจนจากแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงถึงร้อยละ 20
  • หญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อโควิด-19 จะพบข้อจำกัดในการใช้ยารักษาบางชนิด รวมทั้งไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อให้ร่างกายรับออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ จึงเพิ่มโอกาสในการใส่เครื่องช่วยหายใจ หากผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น จะต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนในรูปแบบสายเสียบจมูก แต่หากร่างกายผู้ป่วยยังรับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอจะต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องให้ออกซิเจนแบบ High Flow และกรณีสุดท้ายหากเครื่องให้ออกซิเจนในสองแบบแรกไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ จะต้องเพิ่มระดับการให้ออกซิเจนสูงสุดด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ข้อแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19

  • คนไข้ต้องรักษาสุขภาพอย่างระมัดระวังมากกว่าการตั้งครรภ์ในสถานการณ์ปกติ
  • ในช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์แรก หากไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่น ๆ ควรโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ เพื่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกไปตามความเหมาะสม เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด-19
  • ในรายที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป รวมไปถึงกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูง หรือมีโรคอื่นร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคหอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต และภูมิต้านทานผิดปกติ  ควรไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง โดยให้ทำการนัดหมายล่วงหน้า และระบุเวลาการตรวจที่แน่นอน เพื่อลดระยะเวลาในการอยู่ภายในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ (ถ้าเป็นไปได้)
  • แนะนำให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 1 คน
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกบ้าน
  • พกเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอออล์ติดตัว เพื่อล้างมือและทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม
  • ระหว่างนั่งรอตรวจ หรือรับยา ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
  • เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี
  • รีบอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น อาการบวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบประสานโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่รับฝากครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจโดยเร่งด่วน
  • ระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล เท่ากับว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและมีความแออัด

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์

  • หญิงตั้งครรภ์ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ ยกเว้นกรณีมีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก
  • ช่วงอายุครรภ์ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน คือ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3เดือน) เป็นต้นไป
  • สตรีหลังคลอดหรือให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้
  • วัคซีนโควิด-19 ที่มีในประเทศไทยในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฏาคม  2564) 3 ชนิด คือ ​ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม สามารถฉีดในหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ยกเว้นมีความจำเป็นตามดุลยพินิจของแพทย์ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลเรื่องการฝากครรภ์ก่อนตัดสินใจเข้ารับวัคซีน

 

ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ควรทำอย่างไร

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับการตรวจและยืนยันว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือการปรึกษาแพทย์ และเข้าถึงระบบการรักษาให้เร็วที่สุด และด้วยอัตราการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ดังที่กล่าวมา ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับหญิงตั้งครรภ์ในฐานะที่เป็นกลุ่มจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทียบเท่ากับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

 

 ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ