ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ต้องรู้

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  (Gestational Diabetes) ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความกังวล หากเป็นแล้วจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้ทั้งตัวคุณแม่และลูกได้รับผลกระทบ และหากไม่อยากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไร ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาฝากกัน

ทำความรู้จักโรคเบาหวาน

ภาวะโรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายของเรามีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ขาดไปหรือพร่องเกินไป หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน หมายถึง ร่างกายอาจจะมีอินซูลินในภาวะที่ปกติ แต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถหยิบน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จากที่ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน แบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. โรคเบาหวานที่เป็นก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะมีประวัติโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการรักษามาบ้าง หรือบางรายอาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน
  2. โรคเบาหวานที่เพิ่งเกิดขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนบางชนิดออกมา ทำให้ความต้านทานต่อน้ำตาลผิดปกติ

ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์  ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รกจะสร้างฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ที่เรียกว่า  ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human Placental Lactogen: HPL) หรือ ฮอร์โมน HPL

ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ขณะตั้งครรภ์ ร่วมกับตับอ่อนของหญิงตั้งครรภ์ ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตอยู่แล้ว เช่น มีอายุมากกว่า 30 ปี ,มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติในครอบครัว ญาติพี่น้องสายตรงเป็นเบาหวาน
  3. ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า และเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  4. ผู้ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตรที่ทารกมีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม
  5. ผู้ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิด
  6. ผู้ที่มีประวัติแท้งบุตร

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เสี่ยงต่อลูกอย่างไร

หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ดี จะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดถูกส่งผ่านไปสู่ทารก ทำให้ทารกมีระดับน้ำตาลพอ ๆ กับคุณแม่ จนทำให้ตับอ่อนของทารกต้องผลิตอินซูลินขึ้นมาให้เพียงพอ อินซูลินที่มากขึ้นจะทำให้เด็กในครรภ์ตัวโตขึ้นหรือตัวโตผิดปกติ ทำให้คลอดลำบาก ส่งผลให้ทารกเกิดการบาดเจ็บระหว่างคลอดได้

ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น

  • ถ้าคุมระดับน้ำตาลไม่ดีในระยะแรก เสี่ยงต่อทารกพิการแต่กำเนิด เช่น เด็กอาจจะไม่มีกะโหลกศีรษะ มีปัญหาเกี่ยวกับไขสันหลัง หรือกระดูกสันหลัง เด็กอาจจะเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ถ้าคุมระดับน้ำตาลไม่ดีในช่วงหลัง จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น มีน้ำหนักตัวมาก คลอดลำบาก หรือมีอาการคลอดติดไหล่ เกิดการแตกหักของกระดูก และเป็นอันตรายตอนคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อแรกคลอด

ผลกระทบของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์กับคุณแม่

  • คลอดยาก และเป็นอันตรายต่อช่องคลอด เนื่องจากทารกตัวโต
  • เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งสามารถพบได้ค่อนข้างบ่อย
  • ครรภ์แฝดน้ำ
  • ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตกเลือดหลังคลอด
  • แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะอันตราย เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • เบาหวานขึ้นตา อาจทำให้จอตามีปัญหา ตาพร่ามัว มองไม่ค่อยชัด หรือตาบอดได้
  • เบาหวานลงไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
  • ชาปลายมือปลายเท้า

วิธีสังเกตตัวเองของคุณแม่ ว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเปล่า

อาการส่วนใหญ่จะเหมือนเบาหวานทั่วไป เนื่องจากหากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ทำให้

  • ปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำ
  • รับประทานอาหารมากขึ้น

ซึ่งอาการจะให้เคียงอาการตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นสามารถตรวจเช็คได้จากการวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อประเมิน ที่สำคัญควรมีการตรวจเรื่องเบาหวานตั้งแต่มีการฝากครรภ์ครั้งแรก

การดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

สามารถแบ่งออกได้เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

  • ปัจจัยที่ควบคุมได้  : การควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุที่มากขึ้น หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัว อาจจะยากต่อการป้องกัน
  • เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดเมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ เพื่อคุณหมอจะได้ประเมินและคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนตัวคุณแม่เองก็ต้องทำการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำทั้ง 2 อย่างแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่ คุณหมออาจจะให้ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลอีกทางหนึ่งด้วย ประเด็นสำคัญ

  • ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน
  • ลดอาหารจำพวกแป้ง
  • รับประทานผักให้มากขึ้น
  • ควรงดหรือหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด
  • อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างสมดุลร่างกาย

 

ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ