ลูกติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทย เริ่มพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เด็กติดโควิด-19 มาจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นหากลูกได้รับเชื้อจะมีอาการแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร และต้องมีวิธีปฎิบัติตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัยกับตัวเด็กและผู้ปกครอง

วิธีสังเกตอาการของเด็กที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อโควิด-19 โดยอาการของเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบมากที่สุด

  • มีไข้หลายวัน อาจจะไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้
  • ไอแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ
  • อาจมีหรือไม่มีน้ำมูกก็ได้ คัดจมูก
  • บางรายอาจมีผื่นแดง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • อาจพบอาการปวดเมื่อยตัว
  • เบื่ออาหาร หรือในเด็กทารกอาจจะกินนมได้น้อยลง
  • หรืออาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ซึ่งพบได้เล็กน้อย

แม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กส่วนใหญ่กว่า 90% จะมีอาการไม่รุนแรง แต่กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิต ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ผู้ใหญ่ควรงดสัมผัสหรือหอมแก้มเด็กเล็กโดยไม่จำเป็น โดยระยะฟักเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 14 วันโดยประมาณ และมักจะมีอาการของโรคใน 4-5 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ

การตรวจวินิจฉัยในเด็ก
คุณหมอจะซักประวัติคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หรือมีโอกาสสัมผัสเชื้อมากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นจึงตรวจคอนเฟิร์มการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก

กรณีที่มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าลูกหรือเด็กในบ้านติดเชื้อโควิด -19
อาจจะสามารถแบ่งได้เป็นหลายกรณี

  • กรณีที่ 1 เด็กติดเชื้อและผู้ปกครองติดเชื้อ สามารถเข้ารับการรักษาโดยเน้นจัดอยู่เป็นครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง
  • กรณีที่ 2 เด็กติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel โดยเด็กจะต้องถูกส่งตัวไปรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลหรือ Hospitel อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งการกักตัวสำหรับเด็กมีความซับซ้อนกว่าเคสของผู้ใหญ่ในเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องแยกห่างจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แพทย์แนะนำว่า เมื่อเด็กต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลควรมีคนเฝ้า เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเคว้งคว้าง โดยผู้เฝ้าต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว
  • กรณีที่ 3 เด็กไม่ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองติดเชื้อ ควรให้ญาติที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้ดูแลเด็ก หากไม่มีผู้ดูแลควรส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงเป็นการชั่วคราว
  • กรณีที่ 4 เกิดการระบาดเป็นกลุ่มในโรงเรียน หรือในเนิร์สเซอรี่ พิจารณาใช้พื้นที่เนิร์สเซอรี่เป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยดูจากความพร้อมของสถานที่และบุคลากรตามความเหมาะสม

ลูกติดโควิด19ต้องทำยังไง

 

สำหรับเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการและบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน ได้แก่

  • ปรอทวัดไข้
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้
  • ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่

โดยสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแย่งระดับอาการของเด็ก ออกเป็น 2 ระดับ

  • ระดับที่ 1 คือ อาการที่ยังสามารถสังเกตอาการของเด็กที่บ้านต่อไปได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารหรือนมได้ตามปกติ ไม่ซึม
  • ระดับที่ 2 คือ ระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กไปส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร

ความเสี่ยงของเด็กหากติดเชื้อโควิด-19

  • เชื้ออาจลงปอด ทำให้เกิดอาการรุนแรง ถึงเสียชีวิต
  • มีผลกระทบในด้านจิตใจ และพัฒนาการ เนื่องจากต้องได้รับการกักตัว กักบริเวณ หรืออยู่ในพื้นที่แคบ ในระยะเวลานาน
  • เด็กที่หายป่วยจากโควิด-19 อาจเกิดภาวะ MIS-C คล้ายโรคคาวาซากิ แต่รุนแรงกว่าจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต พบในเด็กไทยแล้วประมาณ 20-25 ราย (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2564)

แนวทางการดูแล เมื่อพบว่าลูกติดเชื้อโควิด

 

ติดต่อคลินิกกุมารเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ