มะเร็งตับรักษาได้ ด้วยการจี้ความร้อน RFA

เทคโนโลยี RFA คืออะไร

RFA ย่อมาจาก Radiofrequency Ablation คือการใช้คลื่นความร้อนในการเผาทำลายก้อนเนื้องอกหรือก้อนมะเร็ง โดยใช้เข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นวิทยุ สอดเข้าไปในตำแหน่งของก้อนมะเร็งหรือเนื้องอก จากนั้นให้กระแสไฟฟ้า เพื่อให้เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนอุณหภูมิสูงบริเวณรอบเข็ม เพื่อช่วยทำลายก้อนเนื้องอกหรือก้อนมะเร็งในรัศมีประมาณ 2-5 เซนติเมตรรอบปลายเข็ม และใช้เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องอัลตราซาวด์ในการนำทาง เพื่อให้ได้ความแม่นยำสูงที่สุด

ใครที่ควรเข้ารับการรักษามะเร็งตับด้วยวิธี RFA

ส่วนใหญ่คนไข้ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธี RFA จะเป็นคนไข้มะเร็ง ระยะเริ่มต้น คือระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาประมาณ 90% จะเป็นคนไข้มะเร็งที่เกิดจากตับ นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นคนไข้มะเร็งตับที่ลุกลามมาจากอวัยวะอื่น เช่น เป็นมะเร็งลำไส้และกระจายมาที่ตับ หรือมะเร็งที่กระจายไปที่ปอด

ใครที่ไม่ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธี RFA

  • ผู้ที่ค่าการแข็งตัวของเลือดไม่ดี
  • ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • ในกลุ่มของคนไข้ที่เป็นโรคเลือด
  • ก้อนอยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น ถุงน้ำดี ลำไส้ กระเพาะอาหาร หัวใจ
  • ก้อนมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธี RFA

ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาล ก่อนรักษา 1 วัน เพื่อเตรียมความพร้อม ได้แก่

  • การได้รับข้อมูล และคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ โดยเมื่อมีข้อซักถาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์และพยาบาล พร้อมทั้งต้องมีการลงนามเอกสารเพื่อยินยอมให้ทำการตรวจก่อนทุกครั้ง
  • มีการตรวจเลือดเพื่อค้นหาภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และโปรดแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากท่านมีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด หรือรับประทานอาหารเสริม ดูค่าไต ค่าตับ และดูความพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับการผ่าตัด
  • งดอาหารและน้ำดื่มก่อนการตรวจ 4-6 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

ขั้นตอนการรักษามะเร็งตับด้วยวิธี RFA

สำหรับการรักษามะเร็งตับด้วยวิธี RFA จะเป็นการรักษาคนไข้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก ยกตัวอย่าง คนไข้มะเร็งตับในระยะเริ่มต้น. เมื่อจะเข้ารับการรักษา แพทย์จะนัดผู้ป่วยให้นอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัว

ขั้นตอนการตรวจ :

  1. แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง
  2. ใช้เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวด์นำทางเพื่อดูตำแหน่งก้อนเนื้อ
  3. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่
  4. แพทย์สอดเข็มขนาดเล็กสู่ตำแหน่งก้อนมะเร็ง
  5. ให้ความร้อนผ่านเข็ม เพื่อเผาทำลายก้อนมะเร็งหรือก้อนเนื้องอกโดยใช้คลื่นวิทยุ Radiofrequency Ablation
  6. แพทย์นำเข็มออก และห้ามเลือดประมาณ 10 นาที พร้อมปิดแผล

 

 

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี RFA

  • ไม่ต้องผ่าตัด ใช้ยาชาเฉพาะที่
  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
  • ใช้เวลาพักฟื้นน้อยประมาณ 1-2 วัน ไม่ต้องนอน รพ.นาน
  • แผลเล็ก
  • มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับการผ่าตัด
  • สามารถทำลายมะเร็งตับ ในอัตราใกล้เคียงกับการผ่าตัด
  • อัตรารอดชีวิตสูง

ภาววะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยวิธี RFA

  • อาจเกิดการแพ้ยาชา ยาสลบ หรือสารทึบรังสี
  • อาจเกิดภาวะเลือดออกที่ตับ
  • ระวังหากก้อนเนื้อหรือก้อนมะเร็ง อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น ถุงน้ำดี ลำไส้ หรือเส้นเลือดใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับหลอดเลือดหรืออวัยวะข้างเคียง
  • เกิดภาวะติดเชื้อหลังทำหัตถการ

การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการรักษาด้วยวิธี RFA

  • เมื่อเสร็จสิ้นการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนราบบนเตียงนิ่งๆ เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการตกเลือด โดยยังงดน้ำงดอาหาร และนอนพักสังเกตอาการอย่างน้อย 1 คืน
  • ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
  • ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติและเปลี่ยนผ้าพันแผล ซึ่งต้องปิดแผลไว้อีก 1-2 วัน ด้วยพลาสเตอร์ปิดแผล โดยไม่ต้องมีการทำความสะอาดแผล
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานได้ตามปกติยกเว้นงานหนัก เช่น แบกหามของหนัก หรือเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก
  • หากมีอาการปวดให้ทานยาแก้ปวด แต่หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมให้กลับมาพบแพทย์
  • ติดตามผลการรักษาด้วยภาพการตรวจทางรังสีหลังการรักษา 4-6 สัปดาห์

คำแนะนำจากคุณหมอ

สำหรับคนไข้ในกลุ่มมะเร็งตับระยะแรก หรือผู้ที่ตรวจร่างกายแล้วพบเจอก้อนเนื้อหรือก้อนมะเร็งระยะแรก สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์รังสีร่วมรักษาวิชัยเวชได้ ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ยินดีให้คำปรึกษาสำหรับคนไข้เพื่อให้ทุกท่านสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและรวดเร็วที่สุด

ขอบพระคุณข้อมูลจาก

น.อ.นพ.เถลิงเกียรติ แจ่มอุลิตรัตน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษาส่วนลำตัว
ผู้อำนวยการศูนย์รังสีร่วมรักษาวิชัยเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย

 

 

ติดต่อ ศูนย์รังสีร่วมรักษา วิชัยเวช
รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย  02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124
หรือ1792 /ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ