เครื่องตรวจอัลตร้าซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์  คือการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงผ่านหัวตรวจไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ และสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นได้ถึงความผิดปกติ และสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ ภาพที่เกิดขึ้น สามารถเป็นได้ทั้งภาพ 2 มิติ  ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตามการเคลื่อนที่ของหัวตรวจในขณะนั้น หรือสามารถนำมาสร้างภาพเป็น 3 และ 4 มิติ  เหมือนการถ่ายรูป เช่น การดูทารกในครรภ์ การตรวจอัลตร้าซาวด์นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว ยังทำการตรวจได้โดยผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ตรวจ นอกเหนือไปจากแรงกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขั้นตอนการตรวจอัลตร้าซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์จะทำการตรวจโดยแพทย์ ผู้ป่วยจะนอนบนเตียง แพทย์จะทาผิวหนังในบริเวณที่ตรวจด้วยเจล (Gel) เย็น เพื่อช่วยการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่างๆ ในขณะตรวจแพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจบนผิวหนัง/ร่างกายส่วนที่จะตรวจเบาๆ เคลื่อนไปจนทั่วบริเวณที่ตรวจ โดยแพทย์และผู้ป่วยจะมองเห็นภาพอวัยวะจากการตรวจบนจอเครื่องตรวจไปพร้อม ๆ กัน การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10-45 นาที ขึ้นกับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตรวจและความผิดปกติ หลังการตรวจอัลตร้าซาวด์มักไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และสามารถกลับบ้านได้ทันที

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  • ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง
  • ตับ ตรวจดูก้อนเนื้องอกหรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ มายังตับ ตรวจดูขนาดของตับ ดูภาวะผิดปกติ เช่น ตับแข็ง ฯลฯ
  • ถุงน้ำดี ตรวจหานิ่วถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็ง และเนื้องอก อื่นๆ ของถุงน้ำดี
  • ท่อน้ำดี ตรวจดูภาวะอุดตันจากนิ่ว หรือเนื้องอก มะเร็ง ภาวะตีบตัน หรือโป่งพอง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด
  • ตับอ่อน ตรวจดูเนื้องอก มะเร็งภาวะตับอ่อนอักเสบ ตรวจหานิ่วในท่อตับอ่อน
  • ม้าม ดูขนาดของม้าม ตรวจดูภาวะฉีกขาดเลือดออกในรายที่ประสบอุบัติเหตุ
  • ไต ใช้ตรวจหานิ่วในเนื้อไต และท่อไต ตรวจหาเนื้องอกและซิสต์ของไต วัดขนาดไตในผู้ป่วยไตวาย ไตอักเสบความผิดปกติแต่กำเนิด
  • การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน มดลูก ดูขนาดของมดลูก ต่อมลูกหมาก ตรวจหาเนื้องอกในมดลูกและรังไข่ และก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน
  • การตรวจดูทารกในครรภ์ ได้แก่ ดูความเจริญเติบโต ตรวจอายุครรภ์ ตรวจหาตำแหน่ง และความสมบูรณ์ของรก ดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดูเพศของทารก ฯลฯ
  • ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ตื้นอื่นๆ เช่น ต่อมธัยรอยด์ เต้านม
  • ตรวจดูความผิดปกติในสมองของเด็กทารก เช่น ภาวะน้ำในช่องโพรง เลือดคั่งในสมอง ฯลฯ
  • ตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดโป่งพอง ภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน เป็นต้น
  • ตรวจเพื่อเป็นแนวทาง และวางตำแหน่งเข็มในการเจาะดูดหรือตัดชิ้นเนื้อ

ข้อดีของการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์

  • ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว และไม่เป็นอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วย รวมทั้งทารกในครรภ์
  • การเตรียมตัวและวิธีการตรวจไม่ยุ่งยาก
  • ราคาสำหรับการตรวจไม่สูง