คำแนะนำ ภาวะเจ็บครรภ์ คลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด คืออะไร
การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ เราจะเรียกว่าครบกำหนดที่ 38-41 สัปดาห์ คือประมาณ 9 เดือนโดยเฉลี่ยหากคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ทางการแพทย์ถือว่าคลอดก่อนกำหนด  แต่ทารกที่คลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไปส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ทารกที่จะมีปัญหามาก คือทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ๆ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย

อาการบ่งชี้ของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
-มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ พร้อมกับเวลาที่มดลูกหดตัว อาการปวดท้องนี้จะคล้ายกับเวลาที่คุณแม่ปวดประจำเดือน
-มีอาการปวดหลังชนิดที่ร้าวลงไปถึงด้านล่างบริเวณก้นกบ ร่วมกับการปวดท้อง
-ปวดถ่วงในอุ้งเชิงกราน อาจจะร้าวไปที่ต้นขา
-มีเลือดออกทางช่องคลอด
-มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด หรือระดูขาวออกมา หรือบางครั้งอาจจะมีมูกปนเลือดออกมาด้วย

สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด

1. คุณสมบัติส่วนตัวและโรคประจำตัว

  • คุณแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี
  • คุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 50
  • คุณแม่ที่มีภาวะแท้งบ่อย มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดในการตั้งท้องต่อมามากขึ้น
  • คุณแม่ที่มีมดลูกผิดปกติ มดลูกพิการมาแต่กำเนิด เช่น มีผนังกั้นภายในโพรงมดลูก หรือมดลูกมีเนื้องอกร่วมด้วย
  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ทำให้ทารกในท้องเจริญเติบโตได้ไม่ดี ทารกตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนดได้

2. การใช้ชีวิตประจำวัน

  • คุณแม่ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนดได้
  • คุณแม่ที่ดื่มสุราและเบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดจะทำให้ทารกในครรภ์เติบโตได้ไม่ดีและคลอดก่อนกำหนด
  • การทำงานที่หนักเกินไป เช่น งานที่ต้องนั่งนาน ๆ วันละหลายชั่วโมง งานที่ต้องใช้แรงมากจะทำให้คุณแม่เหนื่อยง่ายและมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง ส่งผลให้ทารกขาดสารอาหารและก๊าซออกซิเจน ทารกจะตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนด
  • ความเครียดไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากงานหรือปัญหาในครอบครัวทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

3. ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

  • ตั้งครรภ์แฝด
  • เลือดออกขณะตั้งครรภ์
  • ปากมดลูกหลวม
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

ถ้ามีอาการบ่งชี้ของภาวะคลอดก่อนกำหนด ขอให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งจะต้องรับตัวคุณแม่ไว้ในสถานพยาบาล และให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ถ้าปากมดลูกยังขยายไม่มากก็จะได้ผลดี สามารถให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไปได้อีก จนกระทั่งใกล้กำหนดคลอดมากที่สุด

แต่ถ้าแพทย์ประเมินแจ้งว่าไม่สามารถหยุดยั้งการหดตัวมดลูกได้ แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้ปอดของทารกทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมีโอกาสรอดมากขึ้น ยานี้จะได้ผลเมื่อฉีดเข้าไปอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และยาจะมีประโยชน์อยู่ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นอาจจะต้องให้ยาซ้ำ ซึ่งต้องมีการจำกัดการใช้ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากไม่สามารถให้ยานี้ได้กับคุณแม่ทุกราย ในกรณีที่มีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือสงสัยว่าจะมีการอักเสบในร่างกายของคุณแม่ จะไม่สามารถให้ยานี้ได้

การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านอนามัยของแม่และเด็ก แม้ว่าความเจริญทางด้านการแพทย์จะสามารถช่วยให้ทารกที่คลอดออกมาก่อนกำหนดนั้นมีชีวิตรอดได้มากขึ้น แต่ก็เด็กจำนวนมากที่ต้องพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นจะต้องป้องกันไว้ก่อน โดยการส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนที่จะตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไป ฝากครรภ์และปฎิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันท่วงที หากป้องกันแล้วยังเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ต้องรีบพบแพทย์เพื่อให้ยาระงับการเจ็บครรภ์และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง

ติดต่อศูนย์สูตินรีเวช
หรือติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ  เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ