เชื้อไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเด็กแทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้ง มีสถิติว่าเด็กทั่วโลกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากกว่า 2 ล้านครั้งต่อปี และเด็กทารกร้อยละ 50 ที่ป่วยเป็นเป็นโรคอุจจาระร่วง ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก
เด็ก ๆ ติดเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร
เชื้อไวรัสโรต้าติดจากคนสู่คน ผ่านทางอุจจาระ โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสโรต้า (Fecal-Oral-Route) ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้า จะมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม จะพบเชื้อไวรัสโรต้าในปริมาณมากในอุจจาระของผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วง และเชื้อจะอยู่ได้นานหลายวัน ทำให้แพร่กระจายได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสสิ่งของรอบตัวที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ของเล่น เครื่องใช้ หรือพื้นผิวทั่วไป แล้วนำมือหรือของเล่นเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อไวรัสโรต้าได้
ดังนั้นไวรัสโรต้า จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการการระบาดของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก เนอส์เซอรี่ และโรงพยาบาล เชื้อไวรัสโรต้า สามารถติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในฤดูหนาว
อาการเมื่อลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้าจะมีระยะฟักตัวสั้นประมาณ 1-3 วัน ทารกและเด็กเล็กจะมีอาการเริ่มจาก
- มีไข้ ซึ่งอาจมีไข้สูงได้ถึง 39 องศาเซลเซียส
- อาเจียน
- ร้องกวน
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่ไม่มีเลือด หรือมูกปน ซึ่งอาจถ่ายได้ 5-8 ครั้งต่อวัน
- อาจมีอาการร่วมกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ มีน้ำมูก ไอ คอแดง
ระยะของโรคกินเวลาตั้งแต่ 2-3 วัน จนถึง 7-10 วัน บางรายอาจเรื้อรังจนถึง 3 สัปดาห์ได้ และสามารถติดเชื้อไวรัสโรต้าได้หลายครั้ง มักมีอาการรุนแรงในการติดเชื้อครั้งแรก แต่ครั้งต่อ ๆ ไปความรุนแรงจะลดลง เพราะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น รายที่มีอาการรุนแรง จะมีภาวะร่างกายขาดน้ำอย่างมาก เกลือแร่ผิดปกติ ช็อค และเสียชีวิตได้
ดังนั้นหากพบทารกถ่ายเหลวเป็นเวลานาน จะทำให้เสียน้ำและเกลือแร่มาก ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล
รักษาอย่างไร เมื่อลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบจำเพาะ และประคับประคองอาการ เช่น
- เมื่อลูกขาดน้ำและเกลือแร่ ก็ให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนทางปาก
- รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือนมที่ไม่มีแล็กโทส เพราะไวรัสโรต้าจะไปทำลายเซลล์ที่ผนังลำไส้ ทำให้ย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ แต่ถ้ามีภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลหลายวัน
จะป้องลูกจากเชื้อไวรัสโรต้า ได้อย่างไร
- รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน ทำความสะอาดพื้นผิว หรือบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงของเล่นต่าง ๆ และควรล้างมือให้ลูกบ่อยๆ การรักษาความสะอาดอาจช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การดื่มนมแม่ จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรคระดับหนึ่ง
- การเสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยวัคซีน ซึ่งจะสามารถลดความรุนแรงของโรค และความจำเป็นที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหากได้รับเชื้อ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-15 สัปดาห์ในครั้งแรก และครั้งสุดท้ายก่อนอายุครบ 8 เดือน
บทความโดย พญ.พรทิพย์ บุญศิริคำชัย
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประจำคลินิกกุมารเวช
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
ติดต่อคลินิกกุมารเวช
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
02-441-7899 ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ