วิธีเก็บสต็อกนมแม่ ต้องทำอย่างไร

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะฉะนั้นคุณแม่ทุกคนย่อมอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่หากคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน หรือมีธุระระหว่างวัน จะต้องเก็บสต็อกนมแม่ หลาย ๆ ท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า จะเริ่มทำสต็อกน้ำนมได้เมื่อไหร่ และมีวิธีการเก็บรักษานมแม่ที่สต็อกไว้อย่างไร คลินิกกุมารเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย ขอสรุปเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ดังนี้ค่ะ

คุณแม่หลังคลอดที่มีความจำเป็นที่ต้องสต็อกนมไว้ให้ลูก อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 สำหรับคุณแม่ Full Time ที่เลี้ยงลูกเอง อยู่กับลูกตลอดเวลา อาจจะมีช่วงที่ต้องไปทำธุระ หรือไม่ได้อยู่กับลูก คุณแม่กลุ่มนี้สามารถมีสต็อกน้ำนมไว้ได้เล็กน้อย ไม่ต้องเยอะมาก ซึ่งคุณแม่กลุ่มนี้สามารถทำสต็อกนมแม่เก็บไว้เมื่อไหร่ก็ได้ ในช่วงที่คุณแม่สะดวก
  • กลุ่มที่ 2 คุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน อาจจะต้องห่างลูกวันนึง 8 ชั่วโมง,12 ชั่วโมง หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่หลังเลิกงานก็กลับมาอยู่กับลูก
  • กลุ่มที่ 3 คือคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่กับลูก ต้องไปทำงานต่างจังหวัด หรือไปทำงานต่างประเทศ และให้ลูกอยู่กับญาติ หรือคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ซึ่งคุณแม่ในกลุ่มนี้ต้องวางแผนในการสต็อกนมแม่ให้ดี และสามารถเริ่มปั๊มนมได้ทันทีเมื่อคุณแม่พร้อม

การปั๊มนมเพื่อเก็บสต็อก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง

  • ช่วงที่ 1 ปั๊มนมในสัปดาห์แรกหลังคลอด เมื่อให้ลูกกินนมเสร็จ คุณแม่สามารถปั๊มนมต่อได้เลย ปั๊มนาน 10-15 นาที
  • ช่วงที่ 2 หลังจากสัปดาห์แรก ถึง 30-45 วันหลังคลอด ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกตื่นบ่อยขึ้น ร้องมากขึ้น ช่วงนี้แนะนำให้คุณแม่ให้นมลูกจากเต้าไปก่อน ยังไม่ต้องปั๊มนม เพื่อไม่ให้คุณแม่ต้องเหนื่อยหรือเครียดจากการเลี้ยงลูกจนเกินไป หรือสามารถเก็บน้ำนมในขณะที่ลูกเข้าเต้า ด้วยกรวยสูญญากาศก็สามารถทำได้
  • ช่วงที่ 3 ปั๊มนมหลัง 30 หรือ 45 วันหลังคลอด ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลูกกินนมและหลับได้นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้คุณแม่มีเวลาในการปั๊มนมเพื่อเก็บสต็อกนมมากขึ้น

สูตรในการปั๊มนม คุณแม่สามารถเลือกได้ตามความสะดวก

  • สูตรที่ 1 : ปั๊มทันทีหลังลูกดูดไปแล้ว 10-15 นาที
  • สูตรที่ 2 : ปั๊มนมระหว่างมื้อนม ให้ปั๊มนมหลังจากเข้าเต้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง โดยปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 เต้า นาน 10-15 นาที

อยากเก็บนมสต๊อกให้ลูก ต้องปั๊มนมอย่างไร?

  1. ควรเลือกเครื่องปั๊มนมชนิดที่ปั๊มนมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เพราะการปั๊มทีละข้างจะต้องใช้เวลานานเป็น 2 เท่า
  2. เลือกขนาดกรวยครอบ (breastsheild/fange) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของอุโมงค์กรวย (tunnel) พอดีกับเส้นผ่านศูนย์กลางฐานนมเมื่อขยายเต็มที่จากการปั๊ม
  3. ระยะแรกหลังคลอด ควรปั๊มนมให้ได้ 8- 10 มื้อต่อวัน โดยปั๊มนมนานครั้งละ 15-20 นาที
  4. ระยะ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ควรปั๊มอย่างน้อยทุก 5-6 ชั่วโมง โดยกลางคืนควรปั๊มอย่างน้อย 1 ครั้ง

นมแม่เก็บที่อุณหภูมิต่างๆ เก็บได้นานแค่ไหน?

  • อุณหภูมิห้อง > 25 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 1 ชั่วโมง
  • อุณหภูมิห้อง < 25 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 4 ชั่วโมง
  • กระติกน้ำแข็ง  อุณหภูมิ <15 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
  • ตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส   เก็บได้นาน 4 วัน (96 ชั่วโมง)
  • ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว   เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
  • ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก   เก็บได้นาน 3 เดือน
  • ตู้เแช่แข็งแบบประตูแบบ deep freezer อุณหภูมิ -19 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 6 เดือน

การให้นมที่สต็อกลูก ต้องละลาย/อุ่นนมอย่างไร?

  1. วิธีละลายนมแช่แข็ง: ให้ย้ายนมจากช่องแช่แข็งมาเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดา 12 ชั่วโมง ก่อนนำมาตั้งไว้ในอุณหภูมิห้อง(ไม่เกิน 2 ชั่วโมง)  ก่อนป้อนทารก
  2. นมแช่แข็งที่ละลายแล้วและเก็บไว้ในตู้เย็นต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามนำกลับไปแช่แข็งใหม่
  3. ทารกสามารถกินนมที่เย็น หรือนมที่อยู่ในอุณหภูมิห้องได้เลย แต่หากต้องการอุ่นให้ใช้วิธีแช่น้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้สารอาหาร และสารภูมิต้านทานในนมแม่ถูกทำลาย
  4. ห้ามอุ่นนมแม่โดยใช้เตาไมโครเวฟ หรืออุ่นบนเตา
  5. นมแม่ที่เหลือจากการป้อนทารก ไม่ว่าป้อนด้วยขวด หรือถ้วย ห้ามเทกลับ และหากไม่ได้ใช้ภายใน 2 ชั่วโมง ให้ทิ้ง เนื่องจากปนเปื้นเชื้อแบคทีเรียจากปากของทารกแล้ว

นมที่สต็อกเหม็นหืนหลังละลาย สามารถให้ลูกได้ไหม ?

       ในน้ำนมแม่ มีเอมไซม์ไลเปส (Lipase) ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมันให้เป็นอนุภาคเล็ก และผสมเข้ากับโปรตีนได้ดี โดยปริมาณไลเปสในน้ำนมของคุณแม่แต่ละคนมีปริมาณที่แตกต่างกัน ถ้ามีปริมาณมาก จะย่อยไขมันมากเป็นผลให้น้ำนมที่เก็บมีกลิ่นเหม็นหืน อย่างไรก็ตามน้ำนมเหล่านี้แม้มีกลิ่นเหม็นหืนแต่ปลอดภัย และสามารถให้กับทารกได้ โดยไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย

ในทารกบางคนจะปฏิเสธนมที่มีกลิ่นเหม็นหืน อาจแก้โดยการให้นำมาผสมกับนมใหม่ที่ปั๊มเพื่อลดความเหม็นหืน โดยค่อยๆเพิ่มสัดส่วนของนมสต๊อกต่อนมใหม่เพื่อให้ทารกค่อยๆคุ้นชิน ไม่ควรนำนมมาอุ่นก่อนให้ทารกเนื่องจากจะยิ่งมีกลื่นเหม็นหืน

เก็บนมแม่ยังไงในช่องแช่แข็งอย่างไร ให้เหม็นหืนน้อยที่สุด ?

  1. อุปกรณ์ที่ใช้ปั๊มน้ำนม และภาชนะที่เก็บน้ำนมต้องสะอาด ปลอดเชื้อ
  2. ควรรีดอากาศออกจากถุงเก็บน้ำนมให้มากที่สุดก่อนเก็บ และรีบนำนมเข้าช่องแช่แข็ง
  3. ในกรณีที่เก็บนมแม่ในถุงพลาสติกแล้วมีกลิ่มเหม็นหืนมาก อาจเปลี่ยนเป็นภาชนะเก็บน้ำนมเป็นภาชนะที่ทำจากแก้วแทน
  4. ไม่ควรจัดเก็บน้ำนมแม่รวมกับอาหารอื่น
  5. ไม่ควรเรียงนมแม่ชิดผนังของช่องแข็งที่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ
  6. สำหรับกรณีที่คุณแม่พยายามดูแลการเก็บน้ำนมอย่างเต็มที่แล้ว แต่นมแม่ยังมีกลื่นเหม็นหืนมาก และทารกไม่ยอมกิน ควรปรับปั๊มกินวันต่อวัน หรือเก็บในช่องเย็นธรรมดา ร่วมกับพิจารณาต้มน้ำนมที่เก็บใหม่ที่อุณหภูมิ 82 องศาเซลเซียส โดยดูได้จากเริ่มเห็นฟองเล็กๆ ผุดขึ้นในหม้อ จากนั้นให้ดับไฟ รอจนนมเย็นขึ้น แล้วจึงนำไปแช่แข็ง ซึ่งการต้มนมด้วยวิธีนี้จะช่วยยับยั้งการทำงานของไลเปสในน้ำนม ทำให้ลดการเหม็นหืนได้ดี อย่างไรก็ตามการต้มจะทำให้น้ำนมเสียภูมิคุ้มกัน และสารอาหารบางส่วนไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ติดต่อคลินิกกุมารเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ