รู้ทันอาการก่อนมีประจำเดือน PMS คืออะไร และจะรับมืออย่างไร

PMS คืออะไร
PMS หรือย่อมาจาก Premenstrual Syndrome คืออาการก่อนที่จะมีประจำเดือนของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงไทยในวัยเจริญพันธุ์ พบว่ามีอาการ PMS ได้มากถึงร้อยละ 20-40

สาเหตุของ PMS

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progestrrone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองเซโรโทนิน (Serotonin) ข่วงหลังไข่ตก (ในสตรี วัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28-30 วัน การตกไข่จะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป และบ่อยครั้งก็มีประจำ เดือนได้โดยไม่มีการตกไข่)

โดยอาการ PMS อาจจะมีอาการหรือความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยจะเกิดขึ้นเป็นประจำก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการที่พบบ่อยเช่น ปวดท้อง ปวดเมื่อยหลัง ปวดศีรษะ ท้องอืด ถ่ายเหลว มีสิว หงุดหงิด โกรธง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด และวิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งอาการพวกนี้จะหายไปเองหลังประจำเดือนมา 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

75-95% ของผู้หญิงทั่วโลกจะมีอาการ PMS อย่างใดอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับช่วงมีประจำเดือน โดยประกอบด้วยอาการทางร่างกาย และทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ต้องหยุดงานหรือก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

อาการทางร่างกาย

  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยหลัง
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • ถ่ายเหลว
  • คัดตึงเต้านม
  • เป็นสิว
  • ตัวบวม
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • อยากอาหาร

อาการทางจิตใจและอารมณ์

  • โศกเศร้า หดหู่
  • บางคนอาจจะอยากร้องไห้ ด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • สมาธิสั้น
  • นอนไม่หลับ
  • หงุดหงิด โกรธง่าย
  • วิตกกังวล

หากมีอาการทางด้านจิตใจหรืออารมณ์ที่รุนแรงมาก กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม หรือมีภาวะซึมเศร้า อาจต้องเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือจิตแพทย์ เพื่อติดตามอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะ PMS
โดยทั่วไปPMSมักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการPMSอย่างรุนแรง อาจเกิดอาการ PMDD ซึ่งจะมีการแสดงอาการหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้าอย่างมาก อยากฆ่าตัวตาย ร้องไห้บ่อยๆ โมโหร้าย นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น บวมตามตัว บวม คัดหน้าอกอย่างมากหรือปวดศีรษะอย่างมากเป็นต้น ซึ่งอาการ PMDD นั้นจะพบเพียง 2-10% จากจำนวนหญิงที่มีประจำเดือนทั้งหมด

วิธีรับมือกับ PMS

  • ออกกำลังกาย
  • ทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด
  • นอนหลับให้เพียงพอ เฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง
  • รับประทานผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืช
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  •  งดของทอด ของมัน
  • งดอาหารรสจัด
  • งดของหวาน
  • จดบันทึกระยะเวลาและอาการ PMS ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อเตรียมการรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้น

ถ้าปวดท้องประจำเดือนมากควรทำอย่างไร?

  • ใส่เสื้อผ้าโปร่งไม่รัดตัว เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว
  • รับประทานอาหารไขมันต่ำ (low fat) เช่น บลูเบอร์รี มะเขือเทศ พริกหยวก
  • ดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดียิ่งขึ้น
  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลดอาการปวด
  • นอนขดตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องคลายตัว
  • รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน หากมีอาการปวดมาก เช่น ปวดจนเดินไม่ไหว

การปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือขาดเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง บางรายที่มีอาการเครียดมาก ๆ ก็ส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มาตามรอบได้และถ้าปวดท้องประจำเดือนมากควรเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี

ติดต่อศูนย์สูตินรีเวช
หรือติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ  เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ