อาการคนท้อง กับก่อนมีประจำเดือนต่างกันอย่างไร

คุณผู้หญิงหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าอาการใกล้ที่จะมีประจำเดือน หรือว่ากำลังจะตั้งครรภ์ เพราะอาการคล้ายกัน จนบางครั้งรู้สึกสับสน บทความนี้มาไขข้อข้องใจสำหรับคำถามนี้ให้กับคุณสาว ๆ กันค่ะ

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง มักจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย เจ็บเต้านม หรือมีอารมณ์อ่อนไหวผิดปกติ ซึ่งอาการของคนท้องระยะแรก และอาการของผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน ก็อาจเกิดอาการขึ้นได้ในลักษณะเดียวกัน แม้จะมีอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีอาการหลายอย่างที่แตกต่างกันจนสามารถแยกได้ ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะสามารถแยกแยะอาการของทั้ง 2 ภาวะนี้ได้ง่ายขึ้น

อาการก่อนมีประจำเดือน เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอาการอย่างไร?

อาการก่อนมีประจำเดือน หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่นำไปสู่การมีประจำเดือนตามกลไลของร่างกายในเพศหญิง ซึ่งระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ ในช่วงก่อนหรือระหว่างประจำเดือนมา เช่น

  • คัดเต้านม
  • ปวดท้อง
  • ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
  • อยากอาหาร รับประทานอาหารมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักขึ้น
  • สิวขึ้น
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ
  • มีเลือดออกจากอวัยวะเพศ

แต่อาการเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการ หรือบางคนอาจจะเกิดขึ้นบางอาการเท่านั้น ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อประจำเดือนเริ่มมา หรือประจำเดือนหมด

อาการของคนท้องเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาการของคนท้องจะเกิดขึ้นเมื่อไข่สุก แล้วมาเจอกับสเปิร์มของคุณผู้ชาย เกิดการผสมกันและเกิดการฝังตัวที่มดลูก ก็จะทำให้ฮอร์โมนและสารต่าง ๆ หลั่งออกมาเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะมีลูก ทำให้คุณแม่เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกับอาการก่อนมีประจำเดือน

อาการของคนท้องระยะแรก

  • คัดเต้านม
  • ปวดท้อง
  • ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
  • อยากอาหาร หรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ
  • หัวนมมีสีที่เปลี่ยนไป
  • ผิวหนังดูคล้ำขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ
  • มีอาการปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือแพ้ท้อง ซึ่งอาการที่ถือเป็นอาการที่แยกกันได้อย่างชัดเจนสำหรับคนที่กำลังตั้งท้องกับคนที่ก่อนมีประจำเดือน
  • อาจพบมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ

นอกจากนี้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ได้แก่
อาการคัดเต้านม มีสาเหตุมาจากฮอร์โมน โพรเจสเทอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เต้านมตึง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หนักขึ้น เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัว สำหรับวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างคนท้องกับอาการก่อนมีประจำเดือน คือ ระยะเวลา

  • อาการคัด หรือปวดเต้านมสำหรับผู้มีประจำเดือน อาการปวดจะหยุดในวันที่ประจำเดือนมาวันแรก
  • อาการคัดเต้านมที่เกิดจากการตั้งครรภ์ : อาจเกิดขึ้นได้หลังเริ่มตั้งครรภ์ 1-2 สัปดาห์ และอาจเป็นติดต่อกันกว่า 3 เดือน ซึ่งจะเป็นนานกว่าภาวะก่อนมีประจำเดือน

อาการปวดท้อง ความแตกต่างระหว่างคนท้องกับอาการก่อนมีประจำเดือน คือตำแหน่งที่เกิดอาการปวด

  • อาการปวดท้องประจำเดือน จะอยู่บริเวณหน้าท้อง และหลังส่วนล่าง จะมีอาการปวดท้องมากกว่า 1 วัน และรู้สึกปวดมาก
  • อาการคนท้องระยะแรก จะปวดบริเวณท้องน้อย และหลังส่วนล่าง และจะเป็นอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามหากพบอาการปวดท้องในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จะเป็นอาการปวดท้องในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และไม่มีอาการป่วย

สำหรับผู้ที่มีประวัติแท้งบุตร อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าว ร่วมกับอาการมีเลือด หรือของเหลวออกจากช่องคลอด ก็ควรไปพบแพทย์โดยทันที

อาการอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลต่อสมองและอารมณ์

  • หากเป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ช่วงก่อนมีประจำเดือน จะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย วิตกกังวล หรือรู้สึกเศร้า อาจเกิดได้ในช่วง 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน และหายไปเมื่อประจำเดือนหมด
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ อาจมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ทั้งความรู้สึกทางบวกและทางลบ เช่น หัวเราะง่าย ตื่นเต้นง่าย เศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย คุณแม่บางคนอาจจะเป็นต่อเนื่องจนกระทั่งคลอด ซึ่งอารมณ์ด้านลบที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ และไม่ตั้งครรภ์ หากรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือมีอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเบื้องต้น การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

อาการอยากอาหาร

  • ผู้ที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน อาจมีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติ จึงอาจส่งผลให้รับประทานมากขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกแป้ง ของหวานหรืออาหารที่มีรสเค็มจัด
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ระยะแรก อาจมีอาการอยากอาหารที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน หรือชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น ของดอง หรือของที่มีกลิ่นเฉพาะตัว หรือรู้สึกอยากรับประทานอะไรแปลก ๆ หรือไม่มีประโยชน์

อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

  • อาการก่อนมีประจำเดือน อาจส่งผลกระทบกับการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับหรือง่วงซึมตลอดเวลา แต่ก็จะหายได้เองเมื่อประจำเดือนมา
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ มักมีอาการเหนื่อยล้าเกิดขึ้นได้ในช่วง 3 เดือนแรก และอาจเป็นติดต่อกันจนกระทั่วคลอด ในเบื้องต้นคุณแม่อาจลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ อย่างเช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ

อาการมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ นอกจากนี้ทั้ง 2 ภาวะอาจพบเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศได้เช่นกัน

  • อาการก่อนมีประจำเดือน ภาวะเลือดออกจากอวัยวะเพศ ก็คือ ประจำเดือน อาจมีปริมาณเล็กน้อยในช่วงแรก และเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ คือ สัญญาณของไข่ที่ปฎิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะมีเลือดออกมาเล็กน้อย ประมาณ 1-3 วันที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก

ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสนระหว่างเลือดประจำเดือน กับเลือดล้างหน้าเด็ก การจดบันทึกเกี่ยวกับวันตกไข่ อย่างจำนวนวันที่ประจำเดือนมา หรือปริมาณของประจำเดือน หรืออาการอื่น ๆ ก็จะสามารถช่วยแยกอาการของ 2 ภาวะนี้ได้

 

ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ