คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจจะเคยได้ยินคำว่า เจาะน้ำคร่ำ แต่ก็มีหลายท่านที่มีข้อสงสัยว่า แม่ท้องต้องเจาะน้ำคร่ำทุกคนไหม หรือต้องมีข้อบ่งชี้อะไร ถึงควรได้รับการเจาะตรวจน้ำคร่ำ
เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร
การเจาะน้ำคร่ำ คือวิธีการที่คุณหมอใช้เข็มขนาดเล็กแทงผ่านบริเวณหน้าท้องของคุณแม่เข้าไปในถุงน้ำคร่ำของทารก เพื่อดูดเอาน้ำคร่ำออกมา ซึ่งในน้ำคร่ำจะมีเซลล์ของทารกปนอยู่ คุณหมอก็จะนำเซลล์ดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือวินิจฉัยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรมของทารกตั้งแต่อยู่ในท้องได้ นอกจากนี้สามารถนำเซลล์เหล่านี้ไปเพาะเลี้ยงและตรวจดูจำนวนโครโมโซมต่อไป
ตั้งครรภ์แล้วต้องเจาะน้ำคร่ำทุกคนไหม
เนื่องจากการเจาะน้ำคร่ำ มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น มีเลือดออกขณะเจาะ, น้ำคร่ำรั่ว หรือภาวะแท้ง เพราะฉะนั้นการเจาะน้ำคร่ำไม่สามารถเจาะได้ในผู้หญิงท้องทุกคน โดยเลือกกลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะเป็นโรคต่าง ๆ ที่คุณหมอสงสัยให้ทำการเจาะน้ำคร่ำ
คุณแม่กลุ่มไหนที่ควรเจาะน้ำคร่ำ
- คุณแม่อายุมาก หมายถึง แม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (นับวันจนถึงกำหนดคลอด) จะมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกที่ลูกจะเป็นกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
- คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เนื่องจากสามารถมีโอกาสที่จะเกิดลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมในครรภ์ต่อมาได้
- กลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นธาลัสซีเมีย
- คุณแม่ที่ตรวจเลือดคัดกรองความผิดปกติทารกในครรภ์ที่มีผลเป็นบวก
- เมื่อคุณหมออัลตร้าซาวด์และพบความผิดของทารกในครรภ์ เช่น อวัยวะผิดปกติ หรือความผิดปกติจากการสงสัยเรื่องการติดเชื้อต่าง ๆ
- คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรพิการมาตั้งแต่กำเนิด และคาดว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซม เนื่องจากมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์ต่อมา
- มีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว และคาดว่าทารกในครรภ์อาจได้รับการถ่ายทอดความผิดปกติจากพ่อแม่ได้
เมื่อไหร่ถึงควรเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะตรวจน้ำคร่ำจะทำในช่วงเวลาที่ทารกมีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ อายุครรภ์ที่เหมาะสมคือ ประมาณ 16 ถึง 20 สัปดาห์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทารกจะมีน้ำคร่ำประมาณ 200 ซีซี การตรวจน้ำคร่ำ แพทย์จะเก็บน้ำคร่ำไปตรวจประมาณ 20 ซีซี น้ำคร่ำจำนวนนี้ทารกจะสร้างขึ้นใหม่ภายในเวลาประมาณ 24 ชม. ปริมาณน้ำคร่ำที่ลดลงไปชั่วคราวนี้ไม่มีผลกระทบใดๆต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
ข้อดีของการตรวจเจาะน้ำคร่ำ
- ช่วยตรวจปัญหาในการตั้งครรภ์ กรณีคุณแม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มาก่อน อาจต้องเจาะน้ำคร่ำเพื่อดูความแข็งแรงของครรภ์ และความเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย
- ช่วยให้แพทย์สามารถระบุความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เพื่อให้วางแผนครอบครัว และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ได้แก่ โรคที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการพาทัวซินโดรม เทอเนอร์ซินโดรม โดรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเจาะน้ำคร่ำ
- อาจเกิดการติดเชื้อของรกและถุงน้ำคร่ำ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- น้ำเดินก่อนกำหนด
- ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ในที่สุดนำไปสู่การสูญเสียทารกในครรภ์ โดยทั่วไปโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่เกี่ยวเนื่องจากเจาะตรวจน้ำคร่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5 (1 ใน 200)
การเจาะน้ำคร่ำจะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติ และวางแผนแก้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะอาจเกิดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้เข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ