กายภาพผู้ป่วยติดเตียงผิดวิธีอันตรายอย่างไร?

กายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียง เป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ เช่น ข้อ กล้ามเนื้อ หรือทำเพื่อผ่อนคลาย ผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียง มักมีปัญหาสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกาย และจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาหะสมจากผู้ดูแลและฝึกตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ

แต่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายแบบ Passive Rehabilitation exercise เพื่อช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อต่าง ๆ ไม่ให้ติดจนเคลื่อนไหวไม่ได้  นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ผู้ป่วยตระหนักในความสามารถของตนเองจากการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นขณะทำกายภาพบำบัดร่วมกับผู้ดูแล เช่น ตะแคงตัว ลุกนั่ง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียง มีอะไรบ้าง?

  • เกิดการยึดติดของข้อต่อ
  • กำลังกล้ามเนื้อลดลงจากการที่ไม่ได้ใช้งานมานาน
  • แผลกดทับ
  • ประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจและปอดลดลง
  • ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง

กายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียง มีประโยชน์อย่างไร

  • ป้องกันการหดสั้นของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ
  • ป้องกันการยึดติดของข้อต่อ
  • ช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่พอมีแรง

ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยติดเตียง

ท่าทางในการออกกำลังกายในเชิงกายภาพบำบัด มีอยู่ด้วยกัน 9 ท่า แต่ละท่าจะมีผู้ดูแล ที่จะคอยช่วยผู้ป่วยในการทำ หากผู้ป่วยพอมีแรง ก็จะให้ผู้ป่วยช่วยออกแรงตามไปด้วย

ท่าที่ 1 : การบริหารหัวไหล่

โดยให้ยกแขนตรง ผู้ดูแลจะจับที่บริเวณข้อศอก และข้อมือของผู้ป่วย จากนั้นยกแขนขึ้นตรง ๆ ถึงบริเวณศีรษะ จากนั้นค่อย ๆ เอามือลงช้า ๆ ทำซ้ำอย่างต่อเนื่องและนุ่มนวล

ท่าที่ 2 : การบริหารหัวไหล่ โดยการกางแขน

ผู้ดูแลจับบริเวณข้อศอกและข้อมือของผู้ป่วย แล้ววาดแขนของผู้ป่วยกางออกไปด้านข้าง ขึ้นไปชิดหู จากนั้นค่อย ๆ เอามือลงช้า ๆ กลับมาในตำแหน่งเดิม ทำซ้ำอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะและนุ่มนวล

ท่าที่ 3 : การบริหารข้อศอก                     

ผู้ดูแลจะจับบริเวณข้อมือ จากนั้นค่อย ๆ งอข้อศอกเข้าไปหาหัวไหล่ พยายามให้ชิดหัวไหล่มากที่สุดเท่าที่ผู้ป่วยสามารถไปได้ จากนั้นค่อย ๆ เหยียดออกช้า ๆ

ท่าที่ 4 : ท่าบริหารข้อมือ

ผู้ดูแลจับบริเวณแขนของผู้ป่วย อีกมือจับที่บริเวณฝ่ามือผู้ป่วย จากนั้นกระดกข้อมือขึ้นลง ไปให้สุดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่สามารถทำได้

ท่าที่ 5 : ท่าบริหารนิ้วมือ

ผู้ดูแลจับบริเวณข้อมือของผู้ป่วย และเอามืออีกด้าน รวบที่บริเวณนิ้วมือทางด้านหลัง ให้กำมือลงไป จากนั้นใช้มือค่อย ๆ แบนิ้วมือผู้ป่วยออกมา เป็นการแบมือ ทำเป็นจังหวะช้า ๆ

ท่าที่ 6 : ท่าบริหารขา

จะเป็นการบริหารสะโพกก่อน ให้ผู้ดูแลจับที่บริเวณใต้ข้อพับ และบริเวณส้นเท้า กางขาผู้ป่วยออกประมาณ 45 องศา จากนั้นค่อย ๆ หุบขาเข้าไป ทำช้า ๆ เป็นจังหวะ

ท่าที่ 7 : ท่าบริหารข้อสะโพกและข้อเข่า

ผู้ดูแลจับบริเวณต้นขาด้านหน้าของผู้ป่วย และจับที่บริเวณส้นเท้า จากนั้นงอข้อสะโพก และข้อเข่าเข้าหาตัวของผู้ป่วย จากนั้นค่อย ๆ เหยียดออก ตอนเหยียดขาออก ต้องระวังในเรื่องของเข่าสะบัด เพื่อป้องกันการเจ็บข้าวของผู้ป่วย ทำเข้าออกเป็นจังหวะช้า ๆ

ท่าที่ 8 : ท่ายกขาขึ้น

ผู้ดูแลจะจับบริเวณหน้าเข่า และบริเวณส้นเท้าของผู้ป่วย จากนั้นยกขาขึ้นตรง ๆ ประมาณ 45 องศา แล้วค่อย ๆ เอาขาของผู้ป่วยวางลงกับเตียง

ท่าที่ 9 : ท่าบริหารข้อเท้า

ผู้ดูแลจับบริเวณหน้าแข็งของผู้ป่วย อีกมือหนึ่งจับบริเวณที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วย ดันฝ่าเท้าของผู้ป่วยให้กระดกขึ้นมาเข้าหาตัวผู้ป่วย จากนั้นก็เอามือดันฝ่าเท้าของผู้ป่วยลงให้เหมือนถีบปลายเท้าลงไป

แต่ละท่าจะทำทั้งหมด 10 ครั้ง และในการออกกำลังกายของผู้ป่วยติดเตียงให้ทำอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ซึ่งการออกกำลังกายในแต่ละท่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากนักกายภาพบำบัด และวางแผนการรักษา โดยนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

 

ติดต่อคลินิกกายภาพบำบัด รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ