วิตามินดี พบได้ที่ไหนบ้าง
วิตามินดีพบได้ตามธรรมชาติจากแสงแดดยูวี (UV) และอาหารประเภทไขมันจากปลา น้ำมันตับปลา ตับ ข้าวโอ๊ต เห็ด ไข่แดง และชีส หรือการรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินดีเป็นส่วนประกอบ
หากขาดวิตามินดีจะส่งผลอย่างไรกับร่างกาย
วิตามินดี มีหน้าที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสสอรัส ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งหากขาดวิตามินดี อาจจะก่อให้เกิดภาวะมวลกระดูกลดลง และอาจก่อให้เกิดโรคกระดูกบาง (osteopenia) และโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) รวมถึงอาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางระบบภูมิคุ้มกันและการเกิดมะเร็ง
โดยสามารถแบ่งแยกระบบที่ช่วยในการทำงานของร่างกายที่หลากหลาย
- ระบบกระดูก ช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ (Increases bone mineralization)
- ระบบลำไส้ ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส (Increases absorption of Calcium and Phosphorus)
- ระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือด (Induces differentiation)
- ระบบหลอดเลือด ช่วยควบคุมการขยายตัวของหลอดเลือด (Improves vasodilation)
- การเกิดมะเร็ง (Tumor microenvironment) มีหน้าที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (Inhibits proliferation) เหนี่ยวนำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ (Induces differentiation) ยับยั้งไม่ให้มีการลำเลียงเลือดไปหล่อเลี่ยงเซลล์มะเร็ง (Inhibits angiogenesis)
ใครบ้างที่เสี่ยง ต่อการขาดวิตามินดี
- บุคคลที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด ทั้งจากการหลีกเลี่ยงการออกแดด และจากการใช้ครีมกันแดดที่มีสาร (SPF) ที่มีผลทำให้ลดการดูดซึมแสงแดดสู่ผิวหนัง
- ผู้ที่เป็นโรคตับอ่อน ตับอักเสบเรื้องรัง ทำให้การดูดซึมลดลง
- ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ระยะ 3 – 4
- ผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมลงตามธรรมชาติ และมีกิจกรรมกลางแจ้ง และออกแดดน้อยลง
- ผู้ที่มีสีผิวเข้ม คล้ำ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีลดลง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ไขมันในเลือดสะสมสูง
- ผู้ที่มีโรคระบบลำไส้ ทำให้การดูดซึมลดลงและเริ่มมีปัญหา
- ผู้ที่ไม่ได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ โดยอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล รวมไปถึง นม หรือ ซีเรียล
อาการขาดวิตามินดี
- กระดูกพรุน
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ภูมิคุ้มกันต่ำ
- แผลหายช้า
- ผมร่วง
- ภาวะซึมเศร้า
- ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
ผลการตรวจวัดวิตามินดี (Vitamin D)
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D น้อยกว่า 20 ng/mL ถือว่ามีภาวะขาดวิตามินดี
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D อยู่ในช่วง 20-30 ng/mL ถือว่ามีภาวะพร่องวิตามินดี
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D มากกว่า 30 ng/mL ถือว่ามีระดับวิตามินดีพอเพียง
ภาวะพร่อง หรือขาดวิตามินดี (Vitamin D insufficiency or deficiency) แสดงว่าร่างกายอาจอยู่ภาวะวิตามินดีต่ำกว่าค่าปกติ อาจส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งหากดูดซึมแร่ธาตุดังกล่าวน้อย อาจก่อให้เกิดภาวะมวลกระดูกลดลง
โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย
- เด็กแรกเกิด หรือเด็กทารก หากพบว่าระดับวิตามินดีต่ำกว่าค่าปกติ จะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดโรค Rickets disease หรือเรียกว่าโรคกระดูกอ่อน
- ในผู้ใหญ่ อาจก่อให้เกิดโรค Osteomalacia หรือเรียกว่าโรคกระดูกนิ่ม ได้ แต่หากผลการตรวจวัดระดับวิตามินดีได้ค่า มากกว่า 30 ng/mL ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
ผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องวิตามินดีควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- ออกสัมผัสแสงแดดให้มากขึ้น โดยสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที ซึ่งแสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา เห็ด ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาทูน่า แมคเคอเรลแซลมอน
- การรับประทานวิตามินดีเสริม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้วิตามินดีเสริม โดยประเภทของวิตามินดีจะขึ้นอยู่กับสภาวะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
- เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีภาวะขาดวิตามินดี ต้องทำการรักษาอย่างไร
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในเลือดก่อนทานวิตามินเสริม เนื่องจากหากเรารับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก เกินความต้องการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในปริมาณมากกว่า 20,000 IU ต่อวัน แทนที่จะเกิดประโยชน์ ก็อาจทำให้เกิดโทษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเราได้เช่นกัน
บทความโดย
ทนพญ. วรวลัญช์ ทองคำ
หน้าหน้าแผนกปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ รพ.วิชัยเวช อ้อมน้อย
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
02-441-7899 ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ