มารู้จักโรค RSV กันเถอะ

ไวรัส RSV หรือชื่อเต็ม ๆ Respiratory Syncytial Virus  เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ชอบระบาดในสภาวะอากาศชื้นแฉะ ได้แก่ ช่วงหน้าฝนจนถึงต้นฤดูหนาว  ประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไวรัส RSV สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดกับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบได้  มีระยะฟักตัว 2-6 วัน

เด็กที่ติดเชื้อ RSV จะมีอาการอย่างไร

ไวรัส RSV ติดต่อง่าย โดยติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะ และแพร่กระจายเชื้อผ่านการไอ หรือจาม เด็กที่ป่วยในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือมีไข้ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น

  • มีภาวะไข้สูง 39-40 องศา และเป็นต่อเนื่องนานหลายวัน บางรายอาจจะนานถึง 5-10 วัน
  • มีน้ำมูกใสๆ จำนวนมาก
  • ไอ ซึ่งอาการไอจะเป็นปัญหามาก เนื่องจากมีการบวมของหลอดลม หรือมีการหดรัดตัวของหลอดลม เด็กก็จะมีอาการไอถี่ ๆ ไอบ่อย หรือบางรายอาจจะไอมากจนอาเจียน
  • มีอาการกระสับกระส่าย
  • หายใจเร็ว
  • มีเสียงหายใจดังวี๊ด
  • ตอนนอนอาจจะมีหายใจครืดคราด
  • มีหน้าอกบุ๋มได้ หรือมีรอยบุ๋มบริเวณคอ ไหปลาร้า ใต้ชายโครงเพราะหายใจแรงมาก
  • หากมีอาการรุนแรง เด็กอาจจะปากซีดเขียว ตัวเขียว หรือมีอาการซึม

มักจะพบว่าใน. 2 ขวบแรกของเด็กมักจะติดเชื้ออย่างน้อย 1 ครั้ง และในรายที่เป็นครั้งแรกมักจะมีอาการรุนแรง ซึ่งความรุนแรงของโรคมีได้ตั้งแต่เป็นหวัดธรรมดา จนถึงปอดอักเสบรุนแรง จนถึงเสียชีวิต

ผู้ใหญ่มีโอกาสติดเชื้อ RSV ได้หรือเปล่า

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลลูก อาจจะมีโอกาสรับเชื้อผ่านทางสารคัดหลั่งของลูก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะ เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้ แต่เนื่องจากว่าผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานดีกว่าเด็ก ทำให้อาการหากติดเชื้อไม่รุนแรง ซึ่งอาการจะมีแค่ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ หรือไอแห้ง ๆ จาม แค่พักผ่อน ทานยา อาการก็จะดีขึ้น

การรักษาเมื่อได้รับเชื้อไวรัส RSV

ไวรัส RSV ยังไม่มียารักษาเฉพาะหรือวัคซีนที่สามารถรักษาโรคได้  จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ระยะของโรคประมาณ 1-2. วัน

  • ช่วงวิกฤติก็จะเป็นช่วงที่มีไข้สูง ซึ่งอาการไข้สูงหากเป็นในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ อาจจะโอกาสชักจากภาวะไข้สูงได้ การรักษา คือ การให้ยาลดไข้ ทุก 4-6 ชั่วโมง พร้อมเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • หากมีอาการไอ ให้ยาแก้ไข ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม
  • หากมีอาการหายใจเหนื่อยหอบมาก รักษาโดยการพ่นยา
  • บางรายที่มีอาการหนัก อาจจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใส่เครื่องช่วยหายใจเด็ก กลุ่มนี้ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  • ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
  • ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เสมหะเหนียว ป้องกันเชื้อไวรัสลงปอด

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

  • ทุกคนในบ้านควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เมื่อมีการทำกิจกรรม
  • หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด
  • ไม่คลุกคลีกับเด็กที่เป็นหวัด
  • หากลูกป่วย ควรให้หยุดเรียน
  • ทำความสะอาดบ้าน จุดที่ลูกเล่น และของเล่นเป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากเชื้อไวรัส RSV ที่แพร่กระจายจากสารคัดหลั่งจะมีอายุอยู่ภายนอกได้หลายชั่วโมง ซึ่งอาจติดอยู่ที่ของเล่น หรือบริเวณที่ลูกเล่น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงการจูบและหอมแก้มเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโรค
  • ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ RSV แต่สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้

 

ติดต่อคลินิกกุมารเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ