สายเซิร์ฟสเก็ตต้องรู้ เล่นอย่างไร ไม่บาดเจ็บ

เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตยุคนี้ เป็นกีฬาที่เล่นบนแผ่นกระดานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสเก็ตบอร์ดกับกีฬาโต้คลื่น หรือ เซิร์ฟ ต้องอาศัยการทรงตัว การเคลื่อนที่ และเปลี่ยนทิศทางโดยการบิดตัว เน้นการใช้แขนและสะโพกเพื่อให้เกิดการเหวี่ยง พร้อมใช้เทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักที่เท้าในการควบคุมบังคับทิศทาง เป็นการโต้คลื่นบนที่ต้องใช้ทักษะการทรงตัวอย่างมาก ซึ่งเซิร์ฟสเก็ตก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย นพ.ธีรยุทธ เดชมณีนิล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย แนะนำข้อมูลดี ๆ ให้กับสายเซิร์ฟว่าเล่นอย่างไร ถึงไม่บาดเจ็บ

อันตรายจากเซิร์ฟสเก็ต

สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก

1. จากตัวผู้เล่นเอง เนื่องจากกีฬาเซิร์ฟสเก็ตต้องใช้ทักษะการทรงตัวอย่างมากในการเล่น เพราะฉะนั้นการขาดทักษะการฝึกฝน มือใหม่ ยังขาดความคุ้นเคยและความเข้าใจในการเล่น ทำให้การทรงตัว การบังคับแผ่นกระดานสเก็ตไม่ราบรื่น การประมาทขณะเล่น การเล่นผาดโผนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ร่างกายขาดความพร้อม ขาดความยืดหยุ่น ความแข็งแรงและความคล่องตัว

2.จากสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ สถานที่

  • สถานที่เล่นไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ขรุขระ มีทราย น้ำขัง ทางลาดชันมาก หรือมีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะหากเลือกเล่นบริเวณใกล้ถนน มีรถวิ่งไปมา อาจจะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตทั้งแก่ผู้เล่นและผู้สัญจร
  • อุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยชนิดของแผ่นกระดาน ฐานล้อและล้อ มีหลากหลายรูปแบบ หากคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะทำให้การเล่นติดขัดเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่จะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น หมวกกันกระแทก สนับศอก สนับข้อมือ สนับเข่า เป็นต้น

จากปัจจัยทั้ง 2 อย่างอาจทำให้ผู้เล่นได้รับบาดเจ็บทั้งจากการเล่นและอุบัติเหตุได้ ตั้งแต่ทำให้เกิดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ รวมถึงอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยต้นขา รวมถึงข้อเข่าและข้อเท้า นอกจากนี้อาจจะทำให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ จากการเสียการทรงตัว ล้ม เกิดอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก หรือรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก หรืออาจล้มหัวกระแทกสมองกระทบกระเทือนได้เช่นกัน

อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเล่นเซิร์ฟสเก็ต

  1. บาดเจ็บศีรษะเช่น ศีรษะแตก กะโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือน หรือมีเลือดออกในสมอง
  2. กระดูกหักเช่น ข้อมือหัก ข้อศอกหัก กระดูกหัวไหล่หัก ไหปลาร้าหัก ข้อสะโพกหัก ลูกสะบ้าแตก และข้อเท้าหัก
  3. ข้อเคลื่อนหลุดเช่น ข้อไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดบริเวณเข่า
  4. เอ็นฉีกขาดเช่น เอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก เอ็นเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด เป็นต้น

อาการบาดเจ็บจากเซิร์ฟสเก็ต ที่ควรต้องมาพบแพทย์

  1. ศีรษะกระแทก มีอาการมึนงง จำเหตุการณ์ไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน
  2. เกิดการผิดรูปของกระดูก หรือบริเวณข้อต่าง ๆ อาจมีภาวะข้อเคลื่อนหลุด หรือกระดูกหัก
  3. มีอาการปวดต่อเนื่องระหว่างการเล่น หลังการเล่น พักแล้วอาการไม่ดีขึ้นมีอาการปวดเพิ่มขึ้น
  4. มีการบวมชัดเจน หรือบวมเพิ่มขึ้น
  5. เกิดอาการข้อไม่มั่นคง หลวม หรือเปลี่ยนทิศทางเดินแล้วเข่าทรุด อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้
  6. มีการใช้งานที่ผิดปกติ เช่น ไม่สามารถลงน้ำหนักที่เท้าได้

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อบาดเจ็บจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ต

  1. หยุดเล่น ลดการใช้งานตำแหน่งที่บาดเจ็บและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่ม เช่น การดาม หรือการใช้ไม้ค้ำยัน
  2. ประคบเย็นในตำแหน่งที่บาดเจ็บ เพื่อลดอาการปวดบวมหรือฟกช้ำ
  3. ใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อลดการบวม และลดการเคลื่อนไหว
  4. ยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูง กว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม

 

ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ