ตรวจหาสารบ่าชี้มะเร็งเต้านม CA 15-3 คืออะไร แบบไหนถึงเป็นค่าปกติ

มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทยแต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และได้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็มีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่
  • มีพฤติกรรมการกินไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารไขมันสูง กินอาหารแปรรูป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือคอเลสเตอรอลสูง
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ได้รับรังสีในปริมาณมาก
  • ทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี

อาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านม

  • คลำพบก้อนผิดปกติ หรือมีก้อนหนาบริเวณเต้านม หรือรักแร้
  • บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง มีแผล
  • บริเวณเต้านมมีผื่นแดงร้อน หนา คล้ายผิวเปลือกส้ม
  • มีอาการปวดบริเวณเต้านม

การตรวจ CA 15-3 คืออะไร
CA15-3  หรือ Cancer Antigen 15-3 คือ ไกรโคโปรตีน Glycoprotein เป็นสารที่หลั่งออกมาจากเซลล์ที่ผิดปกติ สามารถตรวจพบได้ใน มะเร็งเต้านม และอาจพบได้ในมะเร็งชนิดอื่นๆ หลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ แต่ไม่ได้เด่นชัดเหมือนในมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะพบในระยะลุกลาม จึงสามารถนำ CA 15-3 ใช้เป็นผลติดตาม เพื่อประเมินสภาวะโรคได้ ว่ามีโรคกลับเป็นใหม่หลังการรักษา หรือไม่

การตรวจสาร CA 15-3 มักใช้ควบคู่ไปกับสาร CA 27-29 เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความแม่นยำในการตรวจว่าผู้ป่วยกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งจริง ๆ หรือไม่ และอาจต้องตรวจยืนยันร่วมกับวิธีการตรวจอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจแมมโมแกรม การตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ค่าปกติของ CA 15-3
ค่าปกติของ CA 15-3 ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือดเป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไปดังนี้

  • ค่าปกติของ CA 15-3 คือ < 22 units/mL
  • ค่าปกติของ CA 27-29 (ที่มักตรวจร่วมกับ CA 15-3) คือ < 38 units/mL

ค่า CA15-3 ที่สูงกว่าปกติ แสดงถึงอะไร
ค่า CA15-3 ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลด้านสุขภาพ ดังนี้

  • เกิดในมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม แพร่กระจาย หรือมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากที่ได้ทำการรักษามาจนหายแล้ว
  • เกิดจากมะเร็งชนิดอื่น
  • มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น
  • เกิดจากก้อนเนื้อธรรมดาที่เต้านม
  • เกิดจากภาวะตับแข็ง หรือตับอ่อนอักเสบ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ CA 15-3 มักใช้ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายและการกลับเป็นใหม่ของโรคหลังการรักษา แต่ไม่นิยมใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม (เพราะในระยะแรกของมะเร็งเต้านมค่านี้จะยังปกติ แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามแล้วค่านี้จะเพิ่มสูงขึ้น) ใช้เพื่อติดตามผลการรักษามะเร็งเต้านม

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม การป้องกันที่ดีที่สุดคือสำรวจร่างกายและเต้านมตัวเองเป็นประจำสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี

บทความโดย
คุณปฐมพร ธนังซูศิลป์
นักเทคนิคการแพทย์ รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย

รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย
02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ