ส่องกล้องกระเพาะอาหาร ตรวจหาอะไรบ้าง

การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือ Gastroscopy เป็นวิธีการตรวจโรค ว่ามีโรคอะไรที่อยู่ในทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเป็นการตรวจตั้งแต่ช่องปาก ช่องคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารลงไปถึงลำไส้เล็กส่วนต้น โดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อทำการวินิจฉัย หาสาเหตุความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน และเพื่อรักษาความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น มีภาวะเลือดออก มีติ่งเนื้อ หรือมีก้อนเนื้อ ซึ่งจะทำให้เราทราบโรคดังต่อไปนี้

  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งในกระเพาะอาหาร

อาการที่ควรมาส่องกล้องกระเพาะอาหาร

  • ปวดท้องบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากว่า 55 ปีและมีสัญญาณเตือน ได้แก่ การปวดท้องครั้งแรกในผู้ป่วยสูงอายุ การปวดท้องที่รักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือหากมีอาการอ่อนเพลีย หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
  • มีอาการปวดท้อง และมีภาวะเลือดจางร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงว่าในกระเพาะอาจมีแผลเรื้อรัง หรือมีเนื้อร้ายภายในกระเพาะ ที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • มีอาการปวดท้อง ร่วมกับน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อดอาหาร หรือลดอาหาร อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายในช่องท้องได้
  • มีอาการปวดท้องเรื้อรัง และอาเจียนซ้ำ ๆ ตลอดเวลา
  • เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ แม้จะกินยาก็กลับมาเป็นอีก
  • ปวดท้องบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ คลำเจอก้อนที่หน้าท้อง
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • กลืนอาหารลำบาก กลืนเจ็บ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีความผิดปกติที่หลอดอาหาร
  • อุจจาระ หรือถ่ายเป็นสีดำ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเลือดออกบริเวณทางเดินอาหารส่วนบน หรือมีแผลที่กระเพาะอาหาร

การเตรียมตัวก่อนและหลังส่องกล้องกระเพาะอาหาร

  • ผู้รับบริการต้องงดน้ำงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้อง
  • งดทานยาบางชนิดตามที่แพทย์แจ้งก่อนเข้ารับการตรวจ 7-10 วัน เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างแอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะระหว่างส่องกล้อง  ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์
  • การส่องกล้องกระเพาะอาหาร สามารถทำได้ 2 วิธี

                     วิธีที่ 1 คือ การพ่นยาชาเฉพาะที่ที่คอ วิธีนี้หลังจากตรวจเสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย

                     วิธีที่ 2 คือ การฉีดยาสลบ จะต้องรอประมาณ 2 ชั่วโมง ให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีจากฤทธิ์ยา ถึงจะกลับบ้านได้ แต่ทั้งนี้ผู้เข้ารับบริการ ไม่ควรขับรถกลับบ้านเองหลังจากทำการส่องกล้อง เพราะยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะจุดที่ได้รับระหว่างการตรวจส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก จึงควรพักผ่อนมากๆ และมีญาติรับกลับบ้าน

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

แพทย์จะใช้กล้องเอ็นโดสโคป มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากผ่านทางหลอดอาหารและลงไปยังกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติที่เกิดในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพียง 20 นาทีเป็นอันเสร็จสิ้น

ข้อดีของการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

  • มีความปลอดภัยสูง
  • ไม่รู้สึกเจ็บ
  • สามารถวินิจฉัยโรคจากการส่องกล้องได้
  • หากพบติ่งเนื้อ หรือชิ้นเนื้อ สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้ทันที
  • สามารถตรวจหา เชื้อ H.pylori ต้นเหตุของแผลในกระเพาะอาหารได้ กระเพาะอาหารอักเสบ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

  • อาการที่เจอได้บ่อย คือ ภาวะท้องอืด เนื่องจากขณะที่ทำการส่องกล้องจะมีการเป่าลม เพื่อให้ทางเดินอาหารมีการยืดขยาย
  • กรณีที่มีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ อาจจะมีอุจจาระมีเลือดปนอยู่ประมาณ 1-2 วัน
  • การทะลุของทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้น้อยมาก

 

ติดต่อ ศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้อง
รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย  
02-441-7899 หรือ 1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ