ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ส่องเพื่ออะไร ใครบ้างที่ควรตรวจ?

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นหัตถการทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจดูภายในลำไส้ใหญ่ โดยใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ปรับโค้งงอได้  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 160 เซนติเมตร ที่ปลายกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งต่อกับเครื่องกำเนิดแสง และส่งภาพมายังจอรับภาพ โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปในทวารหนัก ขึ้นไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ที่ต่อกับลำไส้เล็ก หัตถการนี้สามารถวินิจฉัยภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมดว่ามีแผลอักเสบ เนื้องอก มะเร็งหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการประเมินความผิดปกติอื่น ๆ ของลำไส้ใหญ่ เช่น

  • ลำไส้แปรปรวน
  • ท้องเสียเรื้อรัง,ท้องผูกเรื้อรัง
  • อุจจาระผิดปกติ
  • ภาวะซีด
  • อาการน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้อง มีก้อนในช่องท้อง
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก

ใครควรเข้ารับการคัดกรองส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  • คนที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • คนที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้นำอายุของคนในเครือญาติใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะเป็นอายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพ่อเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ

หรือหากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรต้องเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  • ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ขับถ่ายผิดปกติ มีท้องผูกสลับท้องเสีย
  • อุจจาระเป็นมูกเลือด
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

คุณหมอจะให้คำแนะนำล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่ควรและไม่ควรปฎิบัติก่อนเข้ารับการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง

  1. ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจต้องทานอาหารที่ไม่มีกาก งดผัก ผักไม้ หรืออาหารที่มีกากใยสูง ก่อนเข้ารับการตรวจ 3 วัน เพื่อจะได้ใช้เวลาในการเตรียมลำไส้น้อยลง
  2. ก่อนวันตรวจ 1 วัน ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับยาเพื่อทำการล้างลำไส้ หรือทำการสวนทวารก่อนเข้าส่องกล้อง ซึ่งลักษณะของอุจจาระที่พร้อมจะทำการส่องกล้องต้องไม่มีกาก อาจมีสีเหลืองเล็กน้อย และมีสีใสเหมือนน้ำปัสสาวะ
    – คุณหมออาจให้ยาเพื่อล้างลำไส้ รูปแบบของยาจะเป็นยาระบาย ที่มีลักษณะเป็นเม็ด น้ำมัน หรือผงละลายน้ำดื่ม
    – หรือหากคุณหมอเลือกวิธีการสวนทวาร จะเป็นการใส่สายยางขนาดเล็กและนิ่มเข้าไปทางทวารหนัก และปล่อยน้ำสบู่หรือน้ำเกลือ เพื่อสวนล้างทวาร
  3. ก่อนการส่องกล้อง ควรงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง
  4. ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ทราบถึงอาการแพ้ยา หรือสารเคมีใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้น และควรเตรียมรายชื่อยาทุกชนิดที่รับประทานเป็นประจำให้คุณหมอทราบ รวมทั้งหากมีการทานยาแอสไพริน ยารักษาโรคไขข้ออักเสบ ยาลดความเข้มข้นของเลือด ยารักษาโรคเบาหวาน รวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

  1. วันที่เข้ารับการตรวจ คุณหมอจะให้ยานอนหลับ หรือยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกผ่อนคลาย และไม่รู้สึกตัวขณะทำหัตถการ ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการตรวจดูระดับชีพจร ความดันโลหิต และระดับออกซิเจน ตลอดระยะเวลาของการส่องกล้องและการพักฟื้น
  2. ขณะที่ทำการส่องกล้อง คุณหมอจะทำการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนักช้า ๆ ขึ้นไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นภาพ และรายละเอียดของทางเดินลำไส้ใหญ่ได้จากกล้องวีดีโอ ซึ่งจะปรากฏภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ อาจจะมีการเป่าลมเข้าเพื่อขยายลำไส้ใหญ่ด้วย เพื่อให้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถใส่เครื่องมือพิเศษ เพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และห้ามเลือดในกรณีที่มีเลือดออก และตัดติ่งเนื้อที่ผิดปกติได้ขณะที่เป่าลม ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่สบายตัว แต่คุณหมอจะพยายามดูลมออกให้มากที่สุดระหว่างถอดกล้องออก
  3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที

หลังการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้น ประมาณ 2 ชั่วโมง บางรายผู้ป่วยอาจจะมีอาการอืด แน่นท้อง หรือปวดมวนท้อง เนื่องจากอาจมีลมที่เกิดจากการเป่าลมในขณะส่องกล้องค้างอยู่ เมื่อได้ผายลมก็จะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งอาการนี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจมีอาการเลือดออกตอนอุจจาระได้บ้างเล็กน้อย 1-2 วัน ซึ่งอาจเกิดจากเมื่อคุณหมอตรวจพบชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ คุณหมอสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจได้ทันทีขณะส่องกล้อง อาการเลือดออกเล็กน้อยตอนอุจจาระก็สามารถเกิดขึ้นได้

การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหน

หลังการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่แพทย์ได้สังเกตอาการว่ามีสัญญาณชีพปกติ แต่ควรมีเพื่อนหรือญาติมารับกลับบ้าน และไม่ควรขับรถเองภายใน 12- 24 ชั่วโมง หลังเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เนื่องจากฤทธิ์ของยานอนหลับ อาจยังคงมีผล

ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  • การทะลุของผนังลำไส้ใหญ่
  • ภาวการณ์มีเลือดออกหลังจากตัดชิ้นเนื้อ แต่เป็นภาวะเสี่ยงที่พบได้ไม่บ่อย

หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น หลังการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ควรรีบแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

  • ปวดท้องรุนแรง
  • มีไข้
  • ถ่ายเป็นเลือดสด
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง


ติดต่อ รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ