เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า รู้ได้แค่ตรวจคัดกรอง

โรคหัวใจ โรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย ผู้ป่วยบางคนอาจมีสัญญาณเตือน เช่น เหนื่อยง่าย แค่เดินก็เหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่มีอาการเตือน กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจ ก็อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นนอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว การตรวจสุขภาพหัวใจ หรือการตรวจคัดกรองโรคหัวใจถือเป็นสิ่งสำคัญ

การตรวจคัดกรองโรคหัวใจมีอะไรบ้าง ใช้เวลานานไหม
การตรวจสุขภาพหัวใจนั้นมีมากมายหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ด้านโรคหัวใจ ตัวอย่างเครื่องมือและวิธีการตรวจสุขภาพหัวใจที่ใช้บ่อยมีดังนี้

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG Electrocardiography
เป็นการตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยใช้ตัวรับสัญญาณ หรือตัวนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจขนาดเล็ก ไปวางตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ บริเวณหน้าอก และขาขาทั้งสองข้าง หลังจากนั้นตัวรับสัญญาณจะรับไฟฟ้าจากหัวใจ และเครื่องจะแปรผลออกมาเป็นกราฟสัญญาณ เพื่อให้แพทย์ได้อ่านและแปรผลต่อไป
>>ใช้เวลาในการตรวจ ประมาณ 5 นาที

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) หรือ การเดิน หรือวิ่งสายพาน
คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือการเดินหรือวิ่งบนสายพาน สามารถตรวจหาโรคหัวใจที่ซ่อนอยู่ได้ โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจตีบ หลักการก็คือ ขณะที่ออกกำลังกาย หัวใจจะทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้น บีบตัวเยอะขึ้น ทำให้หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น ดังนั้นมีเส้นเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปเลี้ยง แพทย์ก็จะสามารถเห็นความผิดปกติจากกราฟหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกาย รวมถึงประเมินสมรรถภาพของร่างกายว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยแค่ไหน
>>ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15-30 นาที

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo) หรือ การตรวจเอคโค่หัวใจ
สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการตรวจการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) หรือ การเดิน หรือวิ่งสายพาน แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือเอคโค่แทน การตรวจเอคโค่คือ การตรวจเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ โดยเป็นการตรวจด้วยการใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวตรวจ ส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่างๆ ก็จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จึงเอาสัญญาณเหล่านี้มาแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึง รูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ การตรวจนี้ปลอดภัยและไม่เจ็บ
>>ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15-30 นาที

การตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือ CT Coronary Artery หรือการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT calcium scoring)
คือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ตรวจหาหินปูน ที่บริเวณหลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหินปูนที่ตรวจจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยิ่งพบมากยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย
>>ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15-30 นาที

ใครบ้างควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจ

  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย

ข้อดีของการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ

  • การตรวจโรคหัวใจเบื้องต้น เป็นการตรวจที่สะดวก ง่าย ใช้เวลาไม่นาน
  • สามารถวิเคราะห์โอกาสในการเป็นโรคหัวใจได้หลายชนิด
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือไม่เป็นอันตราย
  • ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนและหลังการตรวจ
  • ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการตรวจ แต่อาจจะมีรอยแดงที่เกิดจากการติดเครื่องมือ แต่รอยแดงนั้น สามารถหายเองได้ โดยที่คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ

บทความโดย
คุณเกวลี ใจดวง
พยาบาลวิชาชีพ รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย

รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย
02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ