เป็นคำถามที่คุณผู้หญิงหลายท่านสงสัย ว่าทำหมันแล้ว ถ้าแก้หมัน หรือต่อหมันจะมีลูกได้ไหม ซึ่งปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการทำหมันชาย หรือทำหมั้นหญิงสามารถเปลี่ยนแปลงให้กลับมามีลูกได้ แต่ความสำเร็จในการต่อหมันจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจภาพรวมของการต่อหมัน หรือแก้หมันกันก่อนค่ะ
การต่อหมัน หรือแก้หมัน คืออะไร
การทำหมัน คือ การตัดท่อนำไข่ และผูกท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งท่อนำไข่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรังไข่กับโพรงมดลูก และเป็นจุดที่ทำให้ไข่ของฝ่ายหญิงกับสเปิร์มของฝ่ายชายมาเจอกัน หากไข่และสเปิร์มไม่เจอกันก็จะไม่เกิดการปฏิสนธิหรือการตั้งครรภ์ได้ และไข่ก็จะสลายตัวไปในที่สุด เพราะฉะนั้นการต่อหมัน หรือการแก้หมัน ก็คือ การเชื่อมต่อท่อนำไข่ หรือการทำให้ท่อนำไข่กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้การผ่าตัดในการต่อหมันหรือแก้หมัน
ก่อนตัดสินใจต่อหมันหรือแก้หมัน ต้องรู้อะไรก่อน
- สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ไม่ท้อง เกิดจากอะไร เกิดจากฝ่ายหญิงที่ทำหมัน หรือเกิดจากฝ่ายชาย ดังนั้นก่อนการแก้หมันคุณหมอจะแนะนำให้มีการตรวจร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนการแก้หมัน เพราะหากโอกาสที่จะท้องเองน้อย การต่อหมันหรือแก้หมันก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่หากต้องการมีลูกจริง ๆ อาจจะพิจารณาเปลี่ยนวิธีจากการแก้หมัน เป็นการทำเด็กหมดแก้วแทน เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว ไม่ได้ใช้ท่อนำไข่ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ให้อสุจิเกิดการผสมกับไข่ภายนอกร่างกาย และนำกลับไปฝังตัวที่โพรงมดลูก ซึ่งจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า
- ความพร้อมของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่จะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น โรคประจำตัวบางอย่างที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคเรื้อรังรุนแรง
- ความพร้อมที่จะมีบุตร เช่น สภาพครอบครัว สังคม ความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอด คุณแม่มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนการแก้หมัน
ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการต่อหมัน
- อายุ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุเกิน 40 ปี ความเสี่ยงในการแก้หมันสำเร็จ และตั้งครรภ์ได้ก็จะน้อยลง
- ปัจจัยด้านการเจริญพันธ์ เช่น มดลูกไม่ปกติ มีเนื้องอก รังไข่ไม่สมบูรณ์ รังไข่ฝ่อก่อนวัย มีปัญหามดลูกโต หรือไข่ทำงานน้อยลง ก็จะทำให้ความสำเร็จลดลง
- ปัจจัยของฝ่ายชาย คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจน้ำเชื้อของคุณผู้ชายหรือสามีก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำเชื้อของฝ่ายชายสมบูรณ์เพียงพอและพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เพราะหากแก้หมันผู้หญิงไปแล้ว พบว่าน้ำเชื้อของคุณผู้ชายอ่อน ไม่แข็งแรง มีปริมาณตัวน้อย หรือรูปร่างไม่สมบูรณ์ ก็อาจจะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคหัวใจที่คุมไม่ได้ คุณหมอก็จะไม่แนะนำให้ต่อหมัน เนื่องจากหากแก้หมัน แล้วมีการตั้งครรภ์ จะเกิดความเสี่ยงทั้งคุณแม่และลูกสูงขึ้น
- ระยะเวลาที่ทำหมัน หากทำหมันผ่านมาเป็นเวลานาน โอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ หลังการแก้หมันก็จะลดลง
- ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือ หากท่อนำไข่มีความยาวก่อนการแก้หมัน น้อยกว่า 4-5 เซนติเมตร โอกาสประสบความสำเร็จในการต่อหมันและกลับมาตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง
- ความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่จะทำการต่อหมัน
ขั้นตอนการผ่าตัดแก้หมันโดยการส่องกล้อง
- ผู้ป่วยจะได้รับการส่องกล้องเข้าในช่องท้อง ภายใต้การดมยาสลบ
- ก่อนทำการแก้หมันแพทย์จะประเมินท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ว่าท่อนำไข่ที่เหลือมีความยาวเท่าใดและตันหรือไม่ หากพบว่าท่อนำไข่ที่เหลือยาวเพียงพอและไม่ตัน จึงจะทำการแก้หมันต่อไป หรือหากพบว่าท่อนำไข่ที่เหลือสั้นหรือตัน ไม่สามารถแก้หมันได้ แพทย์อาจจะผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่ด้วยวิธีอื่นแทน ดังนั้นการผ่าตัดแพทย์อาจจะแก้หมันได้ทั้งสองข้างหรือข้างเดียวหรือแก้หมันไม่ได้เลย
- แพทย์แก้หมันโดยการเย็บต่อท่อนำไข่ทั้งสองข้างเข้าหากัน
- แพทย์ฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อดูว่าสีสามารถผ่านไปยังปลายท่อนำไข่ภายหลังการต่อหมันหรือไม่
- ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยเปิดแผล 7 วัน ภายหลังการผ่าตัด และนัดผู้ป่วยมาตรวจเอกซเรย์ฉีดสีดูท่อนำไข่ 1-2 เดือน ภายหลังการผ่าตัด เพื่อดูซ้ำว่าสีสามารถผ่านไปยังปลายท่อนำไข่ได้หรือไม่
ภาวะแทรกซ้อนหลังการแก้หมันหรือต่อหมันที่อาจจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
- ความเสี่ยงต่อการล้มเหลว เช่น แก้หมันได้ข้างเดียวหรือแก้หมันไม่ได้เลย–บาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงในอุ้งเชิงกราน ในกรณีที่มีพังผืด เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่
- ความเสี่ยงจากการดมยาสลบ
- โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้นถ้าตรวจพบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ทันที
- ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์
ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ