โรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะไตผิดปกติ หรือเป็นภาวะที่ไตเสื่อมลงอย่างช้า ๆ นานติดต่อกัน เกิน 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง โดยจะแบ่งระยะและระดับความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังออกเป็น 5 ระยะตามอัตราการกรองของไต หรือเรียกตัวย่อว่า eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) ซึ่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีอัตรากรองของไต (eGFR) ผิดปกติหรือไม่ก็ได้
เมื่อไหร่ถึงเรียกว่า ภาวะไตผิดปกติ
1. ตรวจพบความผิดปกติ ดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ครั้งในเวลา 3 เดือน
- พบAlbumin หรือไข่ขาว ในปัสสาวะ มากกว่า 30 mg/g
- ตรวจเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- ตรวจพบความผิดปกติของเกลือแร่
2. ตรวจพบความผิดปกติของรังสีวิทยา
3. ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้าง หรือพยาธิสภาพ
4. มีประวัติได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
5. ผู้ป่วยที่มีอัตราการกรองของไตหรือ eGFR น้อยกว่า 60 mL/min/73m2 ติดต่อกันเกิน 3 เดือน
ระยะโรคไตเรื้อรัง การแบ่งตามระดับอัตราการกรองของไต eGFR
ระยะโรคไตเรื้อรัง | อัตราการกรองของไต
eGFR (mL/min/1.73m2) |
คำนิยาม |
ระยะที่ 1 | ≥ 90 | ปกติหรือสูง |
ระยะที่ 2 | 60-89 | ลดลงเล็กน้อย |
ระยะที่ 3a | 45-59 | ลดลงเล็กน้อย ถึง ปานกลาง |
ระยะที่ 3b | 30-44 | ลดลงปานกลาง ถึง มาก |
ระยะที่ 4 | 15-29 | ลดลงมาก |
ระยะที่ 5 | < 15 | ไตวายระยะสุดท้าย |
อาการโรคไต (การทำงานของไตลดลง)
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คันตามผิวหนัง
- มีภาวะซีด เป็นตะคริว
- บวมตามร่างกาย เช่น ตาบวม ขาบวม เกิดจากภาวะน้ำคั่ง หรือเสียโปรตีนออกไปจนเกิดภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ
- นอนราบไม่ได้ เนื่องจากของเสียงคั่ง มีภาวะน้ำเกิน
- เหนื่อยหอบ เหนื่อยง่าย เนื่องจากภาวะน้ำเกิน
- ปัสสาวะออกน้อย เพราะความสามารถในการขับน้ำผิดปกติไป
แนวทางการรักษา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
1. รักษาสาเหตุที่รักษาได้ เช่น ยาบางชนิดที่ทำให้ไตเสื่อม (NSAIOS) การติดเชื้อ นิ่วในไต รักษาโดยการผ่า
2. ชะลอการเสื่อมของไต
- รักษาภาวะเลือดจาง
- ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม
- ควบคุมระดับน้ำตามในเลือด
- ปรับอาหาร จำกัดโปรตีน เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักมากเกินไป
- ควบคุมระดับไขมัน
3. การบำบัดทดแทนไต เมื่ออัตราการกรองของไตเหลือน้อยกว่า 15 มล./นาที/73 ตร.ม. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอันเกิดจากมีน้ำหรือของเสียคั่ง แพทย์จะแนะนำการรักษาบำบัดทดแทนไต ซึ่งในปัจจุบัน มี 3 ทางเลือก ได้แก่
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นกระบวนการนำเลือดมาทำให้สะอาดขึ้น ด้วยการกำจัดของเสียและปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผ่านเครื่องไตเทียม ปัจจุบันมีการพัฒนาการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมาเป็นการฟอกเลือดประสิทธิภาพสูง (Online Hemodiafiltration – OL HDF) เพื่อให้กำจัดของเสียได้ดียิ่งกว่าแบบเดิม
- การล้างไตทางผนังช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการใส่น้ำยาฟอกเลือดผ่านท่อซิลิโคนขนาดเล็กซึ่งฝังผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปอยู่ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องเป็นระยะเวลาประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนตามความเข้มข้นของสารผ่านเยื่อบุช่องท้อง ของเสีย และน้ำส่วนเกินจะถูกขจัดออกมาอยู่ในน้ำยาซึ่งจะถูกถ่ายทิ้งไป และถูกแทนที่ด้วยน้ำยาใหม่ที่ปราศจากของเสียในรอบต่อไป ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ระหว่างรอบของการเปลี่ยนน้ำยา
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการบำบัดทดแทนไตในการรักษาไตวายเรื้อรัง โดยนำไตที่ยังทำงานได้ดีมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยไม่จำเป็นต้องนำไตเก่าออก นอกจากมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งไตที่ได้รับการปลูกถ่ายจะทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
บทความโดย
พญ.ณัฏฐรี สุขสว่าง
แพทย์ประจำศูนย์อายุรกรรม ศูนย์ไตเทียม รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
ติดต่อ ศูนย์อายุรกรรม และ ศูนย์ไตเทียม
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย 02-441-7899 ต่อ 1111 , 3124
หรือ1792 /ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ