การทำ BIOPSY หรือการตัดเก็บชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นการตัดเอาชิ้นเนื้อ หรือเนื้องอกออกจากร่างกายเพื่อทำการวินิจฉัย หรือยืนยันชนิดของชิ้นเนื้อ หรือระบุระดับความรุนแรงของชิ้นเนื้อนั้น ๆ
การทำ BIOPSY หรือการตัดเก็บชิ้นเนื้อ มีวิธีการทำ 2 วิธี
–วิธีที่ 1 : การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการนำทางในการบอกตำแหน่งเพื่อเข้าไปเก็บชิ้นเนื้อ เครื่องอัลตราซาวด์ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย โดยใช้คลื่นความถี่เสียงขั้นสูง ที่สะท้อนไปยังอวัยวะภายใน และแสดงเป็นภาพออกมาก โดยใช้หัวโพรบเครื่องอัลตราซาวด์ วางบริเวณตำแหน่งที่ต้องการจะดู เช่น ลำคอ ต่อมไทรอยด์ เต้านม หรือช่องท้อง
แพทย์จะเลือกใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ในกรณีที่ชิ้นเนื้อหรือก้อนเนื้องอกอยู่ในบริเวณที่ไม่ลึกมาก หรืออยู่ในบริเวณตื้น ๆ เช่น ก้อนเนื้อหรือชิ้นเนื้อบริเวณ
- ต่อมไทรอยด์
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
- เต้านม
- หรือในอวัยวะภายในอื่น ๆ ที่อยู่ในจุดที่ตื้น ๆ
-วิธีที่ 2 : การใช้เครื่อง CT Scan หรือเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ นำทาง เข้าไปเก็บชิ้นเนื้อ
การนำทางด้วยเครื่อง CT Scan หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะให้คนไข้นอนบนเตียง ขณะตรวจเตียงจะสไลด์เลื่อนเข้าไปในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์เพื่อสร้างภาพเสมือนจริง ให้แพทย์ได้เห็นความผิดปกติของชิ้นเนื้อว่าอยู่ส่วนไหนของร่างกาย
แพทย์จะเลือกใช้เครื่อง CT Scan ในกรณีที่ชิ้นเนื้อหรือก้อนเนื้องอกอยู่ในบริเวณที่อยู่ลึก เช่น ตับ หรือ ไต หรือมีตำแหน่งที่ค่อนข้างเสี่ยงกับอวัยวะสำคัญ เช่น ใกล้เส้นเลือด หรือเป็นการตัดชิ้นเนื้อที่ต้องการความแม่นยำที่สูงขึ้น
การเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อ หรือ BIOPSY
ส่วนใหญ่การเตรียมตัวจะเหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป
- หากใช้วิธีนำทางด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังการตัดชิ้นเนื้อ จะสังเกตอาการประมาณ 30 นาที หากไม่มีอาการผิดปกติ สามารถกลับบ้านได้เลย
- แต่หากเป็นการนำทางด้วยเครื่อง CT Scan คนไข้จะต้องนอนโรงพยาบาลล่วงหน้า 1 วัน ก่อนเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อ และหลังตัดชิ้นเนื้อแล้ว อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการตัดชิ้นเนื้อ 2-3 วัน
- คนไข้จะได้รับการเจาะเลือด เพื่อดูค่าการแข็งตัวของเลือด ค่าไต และค่าอื่น ๆ ที่สำคัญ
- หากมีโรคประจำตัว ทานยารักษาโรคประจำตัวหรือ แพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ
ภาวะแทรกซ้อนจากการตัดเก็บชิ้นเนื้อ หรือ BIOPSY
- ภาวะเลือดออกในตำแหน่งที่เก็บชิ้นเนื้อ
- การเก็บชิ้นเนื้อ กระทบกับอวัยวะสำคัญใกล้เคียง เช่น เส้นเลือด เส้นประสาท
สามารถทราบผลการตัดชิ้นเนื้อ ภายในกี่วัน
ขึ้นอยู่กับศูนย์ที่ทำการตรวจ หรือความจำเพาะเจาะจงในการตรวจ ระยะเวลาในการทราบผลอาจจะอยู่ประมาณ 7-14 วัน
ขอบพระคุณข้อมูลจาก
น.อ.นพ.เถลิงเกียรติ แจ่มอุลิตรัตน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษาส่วนลำตัว
ผู้อำนวยการศูนย์รังสีร่วมรักษาวิชัยเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
ติดต่อ ศูนย์รังสีร่วมรักษา วิชัยเวช
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย 02-441-7899 ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ