หากคุณปวดเข่า เคลื่อนไหวเข่าลำบาก ข้อเข่ามีเสียงดัง คุณอาจเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม ใครที่กังวลเรื่องนี้ นพ.ประพันธ์ ทานานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องข้อเข่าเสื่อมแบบเข้าใจง่าย ๆ ค่ะ
โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการที่ กระดูกอ่อนที่หุ้มผิวข้อเข่าเสื่อม หรือสึกกร่อนลง ช่วงสงแรกอาจจะไม่มีอาการแสดง แค่เริ่มรู้สึกมีเสียงดังกรอบแกรบบริเวณข้อเข่าเวลาขยับ แต่หากเรายังใช้งานหัวเข่าอย่างหนักไม่ถูกวิธี รวมถึงเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็อาจจะทำให้กระดูกอ่อนที่หุ้มผิวข้อเข่าสึกกร่อนมากขึ้น จนกระดูก 2 ชิ้นติดกันโดยไม่มีกระดูกอ่อนหุ้ม น้ำในข้อก็น้อยลง ทำให้เกิดอาการปวดเข่า หรือปวดกระดูกมากขึ้น จะรู้สึกฝืด หรือเคลื่อนไหวเข่าได้ลำบาก
ซึ่งสาเหตุของข้อเข่าเสื่อมจะแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุ ได้แก่
1.ข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ เกิดการใช้งานตามอายุทั่วไป แต่ก็มีปัจจัยที่กระตุ้นให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว หรือช้า ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ข้อเข่าก็มีโอกาสเสื่อมได้มากกว่าคนอายุน้อย
- เพศหญิง จะมีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าเพศชาย
- คนที่น้ำหนักเยอะ หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน เพราะคนอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐานจะมีการลงน้ำหนักที่เข่ามากกว่าคนปกติ
- ผู้ที่ใช้งานเข่าแบบไม่ระมัดระวัง เช่น นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิบ่อย ๆ
2.ข้อเข่าเสื่อมแบบทุติยภูมิ คือข้อเข่าเสื่อมจากสาเหตุอื่น ๆ ภายนอก เช่น คนไข้เป็นข้ออักเสบมาก่อน เป็นรูมาตอยด์ เป็นข้ออักเสบเก๊าท์ หรือเป็นโรคกระดูกสันหลังยึดติด หรือการเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่า ทำให้กระดูกแตกหัก เอ็นฉีกขาด เอ็นอักเสบ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในข้อ ก็จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคตได้
ข้อเข่าเสื่อมมีอาการอย่างไร?
- มีอาการปวดข้อเข่า
- มีเสียงดังกรอบแกรบ ในขณะที่ขยับข้อเข่า หรือแม้แต่การเดินยืน หรือการใช้ชีวิตประจำวันปกติ
- มีอาการรู้สึกเหมือนข้อยึด ฝืด ข้อติด หลังจากที่หยุดใช้งานไปนาน ๆ เช่น หลับแล้วตื่นในตอนเช้า หรือนั่งพักเป็นระยะเวลานาน ๆ
- หากมีอาการข้อเข่าเสื่อมมาก ๆ จะเห็นว่าข้อจะเริ่มโก่ง ส่วนใหญ่จะเห็นว่าข้อเข่าโก่งออกด้านนอกมากกว่าด้านใน
ช่วงอายุที่พบข้อเสื่อมมากที่สุด คือ ?
ข้อเข่าเสื่อมพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปีเป็นต้นไป แต่จะพบมากที่สุดช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป
วิธีการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
วิธีการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
วิธีที่ 1 คือการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
- โดยผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ลดน้ำหนัก หรือไม่อยู่ในท่าที่เข่างอมากจนเกินไป เช่น ขัดสมาธิ พับเพียบ นั่งยองยอง หรือคุกเข่า
- เป็นการรักษาด้วยยา ได้แก่ การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป การทายา การประคบน้ำอุ่น จนถึงการทำกายภาพบำบัด
- การฉีดยาเข้าหัวเข่า อาจเป็นสเตียรอยด์ฉีดเข้าข้อเข่า เป็นกลุ่มน้ำเลี้ยงข้อ
วิธีที่ 2 คือการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะแบ่งออกเป็น
- เปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน
- เปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด
ซึ่งการพิจารณาว่าจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในรูปแบบไหน ก็ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย
ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นข้อเข่าเสื่อม
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชิวิต ควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินมาตรฐาน
- ระมัดระวังการใช้เข่า ไม่อยู่ในท่าที่ต้องงอเข่ามากจนเกินไป เช่น การนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ ยองยอง หรือคุกเข่าบ่อย ๆ
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ