ฝากครรภ์ดีหรือไม่ดีอย่างไร

คุณแม่มือใหม่หลายท่านที่รู้ว่าตั้งครรภ์ อาจจะยังไม่ทราบว่าตัวเองต้องทำอะไรต่อ การเตรียมความพร้อมที่จะเป็นคุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง และที่มีคนแนะนำว่าต้องฝากครรภ์ ควรฝากครรภ์หรือเปล่า ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย จะมาไขข้อข้อใจในเรื่องนี้ค่ะ

การฝากครรภ์ (Antenatal Care) คือ การดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งจะเป็นการดูแลแบบครอบคลุม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาตลอดระยะการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในผู้ที่ตั้งครรภ์ทุกคน

ทำไมถึงต้องฝากครรภ์

นอกจากการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์แล้ว หากช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่ามีปัญหาหรือพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันที เนื่องจากสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้ และจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์ ได้แก่

  • การปฎิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์
  • โภชนาการต่าง ๆ
  • การใช้ยา
  • การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์
  • สังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์และอาการเจ็บครรภ์
  • การเตรียมตัวก่อนคลอด
  • รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ หลังคลอด เช่น การวางแผนครอบครัว การให้นมบุตร

เพราะฉะนั้นสำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ควรทำคือ “การฝากครรภ์” เพราะการฝากครรภ์จะเป็นวิธีเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถทราบว่าสุขภาพของเราและลูกในท้องแข็งแรง สมบูรณ์หรือเปล่า

ถ้าไม่ฝากครรภ์ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป 80% ของคนท้องหรือตั้งครรภ์ สามารถตั้งท้องได้โดยไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่อีก 20% คือกลุ่มที่อาจมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการไปฝากครรภ์จะช่วยให้เราค้นพบภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นและป้องกันได้

ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

แนะนำให้คุณแม่เข้ารับการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองหาความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การเข้ารับการฝากครรภ์เร็วจะช่วยให้

  • สามารถยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวณกำหนดคลอดได้  ,สามารถติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง และสามารถกำหนดเวลาในการวินิจฉัยต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
  • ได้รับการตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์
  • ทำให้สามารถตรวจหาและแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะท้องลม ท้องนอกมดลูก หรืออาการแท้งคุกคาม เนื่องจากการแท้งในช่วง 3 เดือนแรกมักจะเกิดจากตัวอ่อนที่มีโครโมโซมผิดปกติ หรืออาจเกิดจากรังไข่สร้างฮอร์โมนไม่ดี ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ไม่ดีพอ หรืออาจพบเจอซิสต์หรือเนื้องอกที่รังไข่หรือมดลูก
  • ได้รับสารอาหารและวิตามินเสริมที่เหมาะสมตามอายุครรภ์ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการสารอาหารมากกว่าปกติ เช่น ธาตุเหล็ก โฟลิก ไอโอดีน
  • ได้ร่วมกิจกรรมเสริมความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับคุณแม่

เมื่อมาฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการตรวจอะไรบ้าง

1. แพทย์จะทำการซักประวัติ ประวัติการขาดประจำเดือน โรคประจำตัวต่างๆ การตั้งครรภ์และการคลอดในอดีต
2. วัดความดันโลหิต เพื่อประเมินภาวะความดันโลหิตสูงในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์
3. ตรวจร่างกาย ตรวจดูเปลือกตาว่าซีดหรือไม่ มีภาวะคอโตหรือเปล่า ตรวจเต้านมว่าหัวนมผิดปกติหรือไม่
4. ตรวจปัสสาวะ

  • ตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ เพื่อเช็คความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น หากคุณแม่มีน้ำตาลรั่วในปัสสาวะแสดงว่า มีความเสี่ยงเรื่องของโรคเบาหวาน อาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม
  • ตรวจหาโปรตีน เพื่อให้ทราบว่าคุณแม่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ หรือถ้ามีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับภาวะปัสสาวะมีโปรตีนรั่ว อาจจะเสี่ยงเรื่องของครรภ์เป็นพิษ
  • นอกจากนี้เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และดูความผิดปกติของภาวะไตหรือครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia)

5.ตรวจอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะเป็นการตรวจที่สามารถบอกได้ว่าทารกในครรภ์มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และจะสามารบอกได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติดีหรือไม่ หรือท้องลม หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือเปล่า
6.ตรวจเลือด เพื่อดูหมู่เลือด ไม่ว่าจะเป็นหมู่เลือด ABO หรือ RH ,ดูความเข้มข้นของเลือด ว่าความเข้มข้นของเลือดปกติ หรืออยู่ในภาวะซีดหรือเปล่า รวมถึงดูภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่จะกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้ เช่น การตรวจคัดกรองธาลัสซิเมีย ตรวจการติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี กามโรค ซิฟิลิส และ HIV รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน

คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มไหนบ้างที่อาจจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

  • คุณแม่ตั้งครรภ์อายุน้อยมาก ที่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์
  • คุณแม่อายุมากเกินไป หรืออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • คุณแม่ที่ผอมเกินไป
  • คุณแม่ที่อ้วนเกินไป หรือมีภาวะโรคอ้วน
  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และพัฒนาการที่ดีของทารกในครรภ์ หากทราบว่าตั้งครรภ์รีบฝากครรภ์กันนะคะ

ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ