โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความกังวล หากเป็นแล้วจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้ทั้งตัวคุณแม่และลูกได้รับผลกระทบ และหากไม่อยากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไร ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาฝากกัน
ทำความรู้จักโรคเบาหวาน
ภาวะโรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายของเรามีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ขาดไปหรือพร่องเกินไป หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน หมายถึง ร่างกายอาจจะมีอินซูลินในภาวะที่ปกติ แต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถหยิบน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จากที่ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน แบ่งเป็น 2 ชนิด
- โรคเบาหวานที่เป็นก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะมีประวัติโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการรักษามาบ้าง หรือบางรายอาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน
- โรคเบาหวานที่เพิ่งเกิดขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนบางชนิดออกมา ทำให้ความต้านทานต่อน้ำตาลผิดปกติ
ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์
สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รกจะสร้างฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ที่เรียกว่า ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human Placental Lactogen: HPL) หรือ ฮอร์โมน HPL
ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ขณะตั้งครรภ์ ร่วมกับตับอ่อนของหญิงตั้งครรภ์ ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตอยู่แล้ว เช่น มีอายุมากกว่า 30 ปี ,มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติในครอบครัว ญาติพี่น้องสายตรงเป็นเบาหวาน
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า และเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตรที่ทารกมีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร มีประวัติทารกพิการแต่กำเนิด
- ผู้ที่มีประวัติแท้งบุตร
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เสี่ยงต่อลูกอย่างไร
หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ดี จะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดถูกส่งผ่านไปสู่ทารก ทำให้ทารกมีระดับน้ำตาลพอ ๆ กับคุณแม่ จนทำให้ตับอ่อนของทารกต้องผลิตอินซูลินขึ้นมาให้เพียงพอ อินซูลินที่มากขึ้นจะทำให้เด็กในครรภ์ตัวโตขึ้นหรือตัวโตผิดปกติ ทำให้คลอดลำบาก ส่งผลให้ทารกเกิดการบาดเจ็บระหว่างคลอดได้
ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น
- ถ้าคุมระดับน้ำตาลไม่ดีในระยะแรก เสี่ยงต่อทารกพิการแต่กำเนิด เช่น เด็กอาจจะไม่มีกะโหลกศีรษะ มีปัญหาเกี่ยวกับไขสันหลัง หรือกระดูกสันหลัง เด็กอาจจะเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
- ถ้าคุมระดับน้ำตาลไม่ดีในช่วงหลัง จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น มีน้ำหนักตัวมาก คลอดลำบาก หรือมีอาการคลอดติดไหล่ เกิดการแตกหักของกระดูก และเป็นอันตรายตอนคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อแรกคลอด
ผลกระทบของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์กับคุณแม่
- คลอดยาก และเป็นอันตรายต่อช่องคลอด เนื่องจากทารกตัวโต
- เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งสามารถพบได้ค่อนข้างบ่อย
- ครรภ์แฝดน้ำ
- ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตกเลือดหลังคลอด
- แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะอันตราย เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- เบาหวานขึ้นตา อาจทำให้จอตามีปัญหา ตาพร่ามัว มองไม่ค่อยชัด หรือตาบอดได้
- เบาหวานลงไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
- ชาปลายมือปลายเท้า
วิธีสังเกตตัวเองของคุณแม่ ว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเปล่า
อาการส่วนใหญ่จะเหมือนเบาหวานทั่วไป เนื่องจากหากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ทำให้
- ปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำ
- รับประทานอาหารมากขึ้น
ซึ่งอาการจะให้เคียงอาการตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นสามารถตรวจเช็คได้จากการวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อประเมิน ที่สำคัญควรมีการตรวจเรื่องเบาหวานตั้งแต่มีการฝากครรภ์ครั้งแรก
การดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
สามารถแบ่งออกได้เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- ปัจจัยที่ควบคุมได้ : การควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุที่มากขึ้น หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัว อาจจะยากต่อการป้องกัน
- เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดเมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ เพื่อคุณหมอจะได้ประเมินและคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนตัวคุณแม่เองก็ต้องทำการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำทั้ง 2 อย่างแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่ คุณหมออาจจะให้ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลอีกทางหนึ่งด้วย ประเด็นสำคัญ
- ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน
- ลดอาหารจำพวกแป้ง
- รับประทานผักให้มากขึ้น
- ควรงดหรือหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด
- อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างสมดุลร่างกาย
ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ