มะเร็งตับ อันตรายถึงชีวิต

มะเร็งตับ ถือเป็นภัยร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ของคนไทย มักพบในคนอายุ 30-70 ปี พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า โดยเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง นพ.ศิษฎา หาญสุรนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์อายุรกรรม และคลินิกมะเร็ง รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับแบบเข้าใจง่าย ๆ

มะเร็งตับ คืออะไร?
มะเร็งตับ คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในเนื้อตับ ที่เติบโตขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น และแพร่กระจายต่อไปได้ ซึ่งมะเร็งตับ สามารถแยกย่อยได้เป็น 2 ประเภท

  1. 75% เป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ พบได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนกลายเป็นเนื้อร้าย
  2. อีก 25% จะเป็นมะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติ สาเหตุมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบได้บ่อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน รวมถึงการรับประทานอาหารบางชนิที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารดินประสิว ที่มีอยู่ในอาหารประเภทหมัก และอาหารรมควัน

ความรุนแรงของโรคมะเร็งตับ

แม้มะเร็งตับจะไม่ใช่มะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด แต่มะเร็งตับเป็นโรคถือเป็นสาเหตุการสียชีวิตอันดับ 1 ทั้งเพศชายและเพศหญิง ปี 2018 มะเร็งตับถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 6 ของโลก มีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่กว่า 840,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับถึงกว่า 780,000 ราย ถือเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ

  • ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ คือ ตับแข็ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบี,ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับ เกิดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ที่ร้อยละ 50-55 และไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 25-30 โดยผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคนี้ถึง 100-400 เท่า
  • การดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ 41-80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ 1.5 เท่า และถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับสูงขึ้น 7.3 เท่า เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม หรือดื่มน้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน
  • ภาวะอ้วน หรือมีภาวะไขมันเกาะตับ
  • สารอะฟลาทอกซิน เกิดจากเชื้อรอบางชนิด จะพบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง ผู้ที่ตรวจพบว่ามีสารอะฟลาทอกซิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 5-9 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ตรวจไม่พบสาร  อะฟลาทอกซินในร่างกาย

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งตับ

  • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่แรกคลอด หรือตั้งแต่เด็ก
  • ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
  • ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่รักษาจนหายแล้ว

สัญญาณเตือนมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับในระยะเริ่มแรกจะยังไม่มีอาการบ่งบอก จนกระทั่งก้อนมะเร็งเริ่มขยาย ร่างกายไม่สามารถรักษาสภาพสมดุลได้ ทำให้มีความผิดปกติของตับ อาการแสดงที่เกิดขึ้น

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • จุกเสียดท้อง ท้องอืด
  • ท้องโต
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บช่องท้องส่วนบน
  • เลือดออกทางเดินอาหาร

หากมีอาการเหล่านี้ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ มีวิธีใดบ้าง

วิธีการคัดกรองมะเร็งตับที่เหมาะสม ควรต้องมีการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยอาจใช้การฉีดสารทึบแสงร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่ยำในการวินิจฉัย ร่วมกับมีการเจาะเลือดค่ามะเร็งที่เรียกว่า AFP (Alfa-fetoprotein) ทุก 6-12 เดือน โดยคนไข้ที่แนะนำให้เข้ารับการตรวจเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคตับแข็ง

มะเร็งตับรักษาอย่างไร

การรักษามะเร็งตับ ทำได้หลายวิธี

  • ในช่วงเริ่มแรกที่ก้อนมะเร็งยังไม่โตมาก และสุขภาพตับของคนไข้ยังดีอยู่ สามารถทำได้โดยการผ่าตัด
  • หรือหากสุขภาพตับของคนไข้ไม่ดี แพทย์อาจจะเลือกวิธีการรักษาตั้งแต่การจี้ไฟฟ้า Radio Frequency Ablation , การอุดเส้นเลือด Embolization
  • หรือคนไข้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีการแพร่กระจาย แพทย์อาจจะประเมินเรื่องการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็น ยามุ่งเป้า หรือยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ดูแลตัวเองอย่างไร ลดเสี่ยง เลี่ยงมะเร็งตับ

  • ควรดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตับแข็ง
  • ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเช็คว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายหรือไม่
  • สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงตับแข็ง ภาวะไขมันเกาะตับ ควรพบแพทย์และเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งตับ หรือมีญาติ หรือคนรู้จักเป็นมะเร็งตับ สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกมะเร็งสู่ขั้นตอนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแพทย์จะให้คำปรึกษา และวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

 

ติดต่อ คลินิกมะเร็ง ศูนย์อายุรกรรม
รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย  
02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124
หรือ1792 /ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ