การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตรวจอวัยวะภายในร่างกาย โดยใช้หลักการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ได้รายละเอียดของภาพที่ตรวจอวัยวะภายในร่างกายที่คมชัด ซึ่งสามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การตรวจด้วยเครื่อง MRI มีความจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ

MRI สามารถวินิจฉัยส่วนต่างๆของร่างกายและแยกโรคอะไรบ้าง???

  • ตรวจสมอง
  • ตรวจหัวใจ
  • ตรวจอวัยวะในช่องท้องและทรวงอก
  •  ตรวจกระดูกสันหลังระบบกล้ามเนื้อและข้อ
  • ตรวจหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำทั่วร่างกาย
  • ตรวจระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่าง
  • ตรวจท่อทางเดินน้ำดี และถุงน้ำดี
  • ตรวจเต้านม

 การเตรียมตัวก่อนการตรวจและการปฏิบัติตัวขณะตรวจ
1.  กรณีผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือ ไม่ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจ
2.  กรณีผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ ต้องได้รับยานอนหลับ หรือยาสลบ ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
3.  กรณีตรวจอวัยวะในช่องท้องหรือตรวจระบบทางเดินน้ำดี ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
4.  ควรงดใช้เครื่องแต่งหน้าบางชนิดก่อนตรวจ เช่น มาสคาร่า อายแชโดว์ เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้
5. ระหว่างการตรวจผู้ป่วยต้องไม่ขยับ หรือเคลื่อนไหวส่วน ที่ตรวจเพื่อจะได้ภาพชัดเจน
6. ขณะตรวจจะมีเสียงดังจากเครื่องเป็นระยะๆ จะมีฟองน้ำอุดหู เพื่อลดเสียง
7. ระยะเวลาในการตรวจขึ้นอยู่กับอวัยวะที่จะตรวจ เฉลี่ยประมาณ 30 – 40 นาที

ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่อง MRI

  • สามารถให้ภาพที่จำแนกคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจนและตรวจหาสิ่งผิดปกติในระยะแรกได้ ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
  • ตรวจได้ทุกระนาบโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนท่าผู้ป่วย
  • สามารถตรวจสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง เส้นประสาทในร่างกาย เส้นเลือด กระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ภายในกระดูกได้
  • เป็นการตรวจที่ไม่มีรังสีเอกซ์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ทำให้สามารถตรวจในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 – 9 เดือนได้ หากมีข้อบ่งชี้การส่งตรวจที่เหมาะสม แต่ยังคงหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการฉีดสารทึบรังสี เช่น ผู้ป่วยไตวาย สามารถทำการตรวจได้เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี
  • โอกาสแพ้สารที่ใช้ในการตรวจ (Gadolinium)น้อยมาก เมื่อเทียบกับสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ข้อยกเว้น : ผู้ป่วยต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้ เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของเครื่องมือและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

  • ใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Cardiac pacemaker)
  • ติดคลิปอุดหลอดเลือดในเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)
  • เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ
  • ใส่อวัยวะเทียมภายในหู (Ear implant)
  • มีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียม โลหะดามกระดูก กระสุนปืน เป็นต้น
  • ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
  • มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
  • กลัวที่แคบๆ หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้