โรคเหงือก โรคเหงือกอักเสบ หรือปริทนต์ แบ่งตามระดับความรุนแรงของโรคได้ดังนี้
1.โรคเหงือกอักเสบ พบการอักเสบเฉพาะเหงือกเท่านั้น โดยจะมีอาการดังนี้
- เหงือกบวมแดง เป็นมัน ฯลฯ
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
- เหงือกร่น
- มีกลิ่นปาก / รู้สึกถึงรสชาติแปลกๆ ในปาก
2. โรคปริทนต์อักเสบ (โรครำมะนาด)
โรคปริทนต์อักเสบ มักเกิดขึ้นตามมาหากอาการของโรคเหงือกอักเสบไม่ได้ถูกยับยั้ง แบคทีเรียที่สะสมตามร่องเหงือกจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อเหงือก, เอ็นยึดปริทนต์,เคลือบรากฟัน และเกิดการติดเชื้อของกระดูกที่ยึดติดกับฟัน โดยอาจมีอาการดังนี้
- เหงือกบวม มีสีคล้ำ อาจมีหนองไหลหรือมีเลือดออกจากร่องเหงือก
- ฟันโยกและขยับ โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหาร
- เคี้ยวอาหารแล้วมีอาการปวดมากขึ้น
- เหงือกร่น กระดูกรอบฟันถูกทำลาย ฟันจึงดูยาวขึ้น
สาเหตุของโรคปริทนต์
สาเหตุทางตรง : เกิดจากสารพิษที่เป็นของเสียจากแบคทีเรียในแผ่นคราบจุลินทรีย์ถูกขับออกมาตามขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบบวมแดง และเนื้อเยื่อปริทนต์ฉีกขาด (เนื้อเยื่อปริทันต์เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มและยึดรากฟัน ประกอบด้วย เหงือก, กระดูกเบ้าฟันและเอ็นยึดปริทันต์) กระดูกหุ้มรากฟันละลายตัว ขบวนการนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการเกิดโรคปริทนต์ คือ หินปูน ซึ่งไม่อาจขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน และเป็นที่เกาะยึดของแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกรุนแรงขึ้น จนอาจเกิดเป็นหนอง หรือที่เรียกทั่วไปว่ารำมะนาด ทำให้มีกลิ่นปาก ฟันโยก และฟันหลุดในที่สุด
สาเหตุทางอ้อม :
- การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามิน C B และ D
- ฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ
- การใส่ฟันปลอมไม่ถูกสุขลักษณะ
- ลักษณะของอาหารที่รับประทาน ถ้าอาหารเหนียวติดฟันง่าย หรือมีส่วนผสมของน้ำตาลมาก จะทำให้มีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์มากขึ้น
- การเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันเพียงข้างเดียว ฟันข้างที่ไม่ได้ใช้จะไม่ได้รับการขัดสีจากอาหาร ทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูนสะสมมากขึ้น
- กลุ่มโรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่
การป้องกันและรักษาโรคปริทนต์
- ทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอด้วยตนเอง โดยจะต้องแปรงสีฟันและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้หมด
- การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการขูดหินปูน และเกลารากฟัน คือการทำให้ผิวรากฟันเรียบ เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่เกาะบนรากฟันให้สะอาด
- ถ้าบางบริเวณของช่องปากยังมีร่องลึกปริทนต์เหลืออยู่ เนื่องจากมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดและเกลารากฟันร่วมด้วยควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสภาพเหงือกและขูดหินปูน ทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเพื่อรับคำแนะนำในการทำความสะอาดช่องปากอย่างเหมาะสมด้วย
หากมีปัญหาสุขภาพฟัน ปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทาง
ติดต่อศูนย์ทันตกรรม รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ