คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อเต้านม

การเจาะชิ้นเนื้อเต้านม (Core Needle Breast Biopsy) ก้อนเต้านมเป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากถุงน้ำในเต้านม เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา เนื้องอกไขมัน(lipoma) หรือ มะเร็งเต้านม ในคนอายุน้อยก้อนที่เต้านมมักเป็นเนื้องอกธรรมดาชื่อ Fibroadenoma ซึ่งการวินิจฉัยแยกโรค แพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกาย อัลตราซาวด์แมมโมแกรม และตรวจชิ้นเนื้อหากสงสัยว่าเป็นก้อนมะเร็ง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้สามารถตรวจพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก 1-2 ซม.ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือน นับจากวันที่มีประจำเดือนวันแรกประมาณ 3-10 วัน ส่วนผู้อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สามารถตรวจได้ตลอดเวลาที่สะดวก หากตรวจพบมีก้อนเต้านมควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่าก้อนที่คลำได้เป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่

การวินิจฉัยก้อนที่คลำพบบริเวณเต้านม ประกอบด้วย

  1. แพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์
  3. ตรวจชิ้นเนื้อ หรือเจาะชิ้นเนื้อเต้านม (Core Needle Breast Biopsy)

การเจาะชิ้นเนื้อเต้านม (Core Needle Breast Biopsy) ถือเป็นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอีกวิธีหนึ่ง โดยการตรวจชิ้นเนื้อ หรือเจาะชิ้นเนื้อเต้านม  มีหลายวิธี ตั้งแต่

  • ใช้เข็มเล็กเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ ( Fine needle aspiration )
  • ตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ ( Core needle biopsy )
  • ผ่าตัดเอาก้อนออก ( Excision)

ซึ่งมีแนวทางการตรวจชิ้นเนื้อดังนี้

  • กลุ่มเต้านมปกติ ไม่พบก้อน และกลุ่มพบเนื้อเต้านมหนาขึ้น หรือมีลักษณตะปุ่มตะป่ำ แนวทางการจัดการขึ้นอยู่กับผลการตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ได้แก่ BIRADs 1-3 นัดตรวจติดตามซ้ำอีก 6 เดือน แต่หากผลออกมาเป็น BIRADs4-5 ควรทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ ( Core needle biopsy ) หรือ ผ่าตัดเอาก้อนออก ( Excision)
  • กลุ่มตรวจพบพบก้อน มีรูปร่างชัดเจน ไม่แข็ง หากผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์พบว่าเป็นถุงน้ำ ถ้าขนาดใหญ่มากๆมักจะไม่ยุบเอง ควรใช้เข็มเล็กเจาะดูดน้ำและนำเซลล์ไปตรวจ ( fine needle aspiration )  ดูลักษณะน้ำว่าใสหรือไม่ มีเลือดปนหรือไม่  หลังดูดน้ำออกหมดแล้วยังเหลือเป็นก้อนอยู่หรือไม่ แต่ถ้าผลออกมาเป็น BIRADs 4-5 มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ควรทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ ( Core needle biopsy )  หรือ ผ่าตัดเอาก้อนออก ( Excision)
  • กลุ่มที่ตรวจพบก้อนที่ผิวไม่เรียบ แข็ง สงสัยมะเร็งเต้านม แม้ผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เป็น BIRADs 1,2,3 ควรตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มใหญ่ หรือ ผ่าตัดเอาก้อน ใน BIRADs 4-5 ควรทำการตรวจชิ้นเนื้อวิธีตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ ( Core needle biopsy )มากกว่าการผ่าตัดเอาก้อนออก

ข้อดีการเจาะชิ้นเนื้อเต้านม

การเจาะชิ้นเนื้อโดยการใช้เข็มขนาดใหญ่  แพทย์จะทำการเจาะผ่านผิวหนังเพื่อตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยทั่วไปจะใช้ปลายมีดเล็กๆ ทำรอยบากที่ผิวหนังเพื่อให้เข็มเจาะทะลุผิวหนังได้ง่าย ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่โดยแพทย์

  1. ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง
  2. ระยะเวลาในการทำสั้น หากทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอน รพ.
  3. ลดความชอกช้ำ ต่อเนื้อเยื่อปก
  4. การฟื้นตัวเป็นไปได้รวดเร็ว
  5. ขนาดของรอยแผลเท่ากับรูเข็มเล็กกว่าการผ่าตัดทั่วไป
  6. เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการรักษา

การตรวจชิ้นเนื้อเต้านมรอผลตรวจกี่วัน?
ระยะเวลารอผลตรวจชิ้นเนื้อเต้านมจะใช้เวลาประมาณ 7วัน

ขั้นตอนการเจาะชิ้นเนื้อเต้านม

  • ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนชุดเป็นชุดตรวจเต้านม เป็นเสื้อคลุมกระดุมผ่าหน้า
  • ผู้เข้ารับบริการนอนหงายบนเตียง ถอดเสื้อด้านที่ต้องการเจาะเข็มเก็บชิ้นเนื้อ ยกแขนขึ้นแนบกับศีรษะ เจ้าหน้าที่จะเอาหมอนใบเล็กมาหนุนที่แขนกับไหล่ให้
  • พยาบาลทำความสะอาดเต้านมด้วยแอลกอฮอล์
  • แพทย์ฉีดยาชาในตำแหน่งที่จะเจาะเข็ม แล้วใช้ใบมีดเจาะเปิดผิวหนังเพื่อสอดเข็มเจาะชิ้นเนื้อเข้าไป
  • แพทย์ใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อออกมาประมาณ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 1 ชิ้น แล้วนำชิ้นเนื้อใส่ในกระปุกสำหรับตรวจแผนกพยาธิวิทยา
  • พยาบาลจะกดแผลเพื่อไล่เลือดที่ตกค้างอยู่ในแผล แล้วปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ จากนั้นประคบเย็นให้ผู้เข้ารับบริการ 20-30 นาที หากไม่มีอาการเลือดซึมหรืออาการข้างเคียงอื่นๆ ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้

การเตรียมตัวก่อนเจาะชิ้นเนื้อเต้านม
ก่อนเข้ารับการเจาะชิ้นเนื้อเต้านม ผู้เข้ารับบริการจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเล็กน้อย ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หากเคยตรวจแมมโมแกรมหรือผลอัลตราซาวด์เต้านมจากสถานพยาบาลอื่นๆ ให้นำมาให้แพทย์ตรวจดูก่อนนัดหมายตรวจชิ้นเนื้อเต้านม
  • แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รายการยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
  • งดยาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือดประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนการตรวจ ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา
  • แต่งตัวในชุดที่ใส่สบาย สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย
  • ไม่ต้องงดน้ำและงดอาหารก่อนตรวจ

การดูแลหลังได้รับการเจาะชิ้นเนื้อ

  1. หลังการเจาะชิ้นเนื้อ กดแผลห้ามเลือด ประมาณ 15 นาที เมื่อเลือดหยุดปิดแผลด้วยผ้าก๊อสหรือแผ่นกันน้ำ ปิดแผลไว้ 3 วัน
  2. ถ้าต้องการเปลี่ยนแผลก่อนครบ 3 วัน (กรณีแผลสกปรกหรือเลื่อนหลุด) ให้ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดแผลแล้วทาโพวิดีนไว้ ปิดแผลเหมือนเดิม
  3. หลังการเจาะวันแรก ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม และลดรอยเขียวช้ำ
  4. หลังเจาะอาจมีเลือดออกได้ หากมีเลือดออกให้กดไว้ และใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก หรือห่อผ้า หรือ Cold Pack กดไว้ประมาณ 15-30 นาที
  5. เมื่อกลับบ้านถ้ามีเลือดออกมากหรือบริเวณเต้านมปวด บวมโตผิดปกติ เป็นไข้ หลังเจาะชิ้นเนื้อให้พบแพทย์ทันทีที่โรงพยาบาล
  6. ระวังแผล ไม่ให้ถูกน้ำ ประมาณ 3 วัน จะปิดแผ่นกันน้ำให้สามารถอาบน้ำได้ปกติหากมีอาการคันแดงบริเวณที่ปิดแผ่นกันน้ำ สามารถแกะออกได้ และปิดพลาสเตอร์แทน
  7. อาจมีอาการเจ็บ หรือรอยเขียวช้ำเล็กน้อยได้ในตำแหน่งที่เจาะ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ คือยาพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพรินใน 5 วัน
  8. งดยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ออกแรงมาก เช่น เล่นเทนนิส เต้นแอโรบิก ประมาณ 5-7 วัน สามารถขับรถ ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ
  9. กรณีเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านม ให้สวมเสื้อชั้นในแบบพยุงเต้านมในช่วง 48 ชั่วโมงแรก หรือสวมเสื้อชั้นในแบบนักกีฬา(sport Bra) ที่เป็นตะขอหน้าใช้ได้ดีที่สุด
  10. ห้ามนวดหรือคลึงเต้านมประมาณ 3 วัน
  11. ผลการตรวจชิ้นเนื้อจะทราบหลังจากเจาะประมาณ 5-7 วัน
  12. มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อรับฟังผลการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง


ติดต่อศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้อง
 รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ