ตอบทุกข้อสงสัย TIA โรคสมองขาดเลือดชั่วคราว คืออะไร TIA กับ STROKE ต่างกันอย่างไร อาการของ TIA มีอะไรบ้าง

TIA คืออะไร

TIA ย่อมาจาก Transient Ischemic Attack หรือที่เรียกกันว่า “โรคสมองขาดเลือดชั่วคราว” เป็นภาวะที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการคล้าย STROKE เช่น ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด แต่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้จะหายได้เอง แต่ TIA คือ สัญญาณเตือนสำคัญ ว่าอาจมีโอกาสเกิด STROKE ที่รุนแรงตามมา หากไม่ได้รับการตรวจและป้องกัน

TIA กับ STROKE ต่างกันอย่างไร

จุดเปรียบเทียบ TIA (Transient Ischemic Attack) STROKE (โรคหลอดเลือดสมอง)
ระยะเวลาการเกิดอาการ ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หายเองได้ อาการคงอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง ไม่หายเอง
ความเสียหายต่อสมอง ไม่มีการทำลายสมองถาวร เซลล์สมองถูกทำลายถาวร
ความรุนแรงระยะยาว เตือนภัย อาจเกิด STROKE ในอนาคต ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

ดังนั้น หากมีอาการคล้าย STROKE แม้หายเอง ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะกว่า 10% ของผู้ป่วย TIA จะเป็น STROKE จริงภายใน 90 วัน

อ่านเพิ่มเติม
รู้ทันสมอง แตก ตีบ ตัน โรคหลอดเลือดสมอง Stroke เช็กสัญญาณเตือนที่ต้องรู้

อาการของ TIA ที่ควรรู้

TIA มักแสดงอาการคล้าย STROKE เช่น

  • ชาครึ่งซีก หรืออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • ยิ้มแล้วปากเบี้ยว
  • พูดไม่ชัด พูดแล้วลิ้นแข็ง หรือฟังไม่เข้าใจ
  • ตามัว มองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ สูญเสียการทรงตัว

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่กี่นาที แล้วกลับมาเป็นปกติ แต่ก็ไม่ควรประมาท ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

สาเหตุของ TIA

TIA มักเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบแคบหรือมีลิ่มเลือดเล็ก ๆ อุดตันชั่วคราว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ปัจจัยเสี่ยงคล้ายกับ STROKE เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF)

การตรวจวินิจฉัย TIA

แม้อาการจะหายเอง แพทย์จะตรวจอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุและประเมินความเสี่ยง โดยอาจทำการตรวจดังนี้

  • ตรวจร่างกายระบบประสาท
  • ตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมัน
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจ CT Scan หรือ MRI สมอง เพื่อดูว่ามีจุดตีบหรือเส้นเลือดผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจหลอดเลือดคอด้วย Ultrasound Carotid Duplex

แนวทางรักษาและป้องกัน TIA

  • ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมัน
  • ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดตามดุลยพินิจแพทย์
  • ในบางรายอาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดคอหากมีตีบแคบมาก
  • เลิกบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก

FAQ คำถามที่พบบ่อย

Q: ถ้ามีอาการคล้าย STROKE แล้วหายเอง ใช่ TIA หรือเปล่า?
A:
ใช่ อาจเป็น TIA แต่หากไม่ได้รับการตรวจรักษา ความเสี่ยงที่จะเกิด STROKE จริงภายในไม่กี่วันหรือเดือนจะสูงขึ้นมาก

Q: TIA อันตรายไหม?
A:
อันตรายในแง่ที่เป็น “สัญญาณเตือน” หากไม่ตรวจหาสาเหตุและควบคุมปัจจัยเสี่ยง อาจเกิด STROKE รุนแรงตามมาได้

Q:หลังเป็น TIA ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
A:
ต้องไปตรวจเพื่อหาสาเหตุ ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ ใช้ยาและปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดเสี่ยง STROKE ในอนาคต

ตรวจและดูแลระบบหลอดเลือดสมอง โดยแพทย์เฉพาะทาง

อย่ารอให้เกิด STROKE แล้วรักษายาก ดูแลตั้งแต่สัญญาณแรก
หากมีอาการสงสัย TIA หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันสูง เบาหวาน ไขมันสูง
มาตรวจที่ ศูนย์ระบบโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลวิชัยเวชฯ อ้อมน้อย เรามีแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท ทีมพร้อม และเครื่องมือมาตรฐานสูงครบวงจร ใกล้บ้านคุณ

 

ศูนย์ระบบโรคหลอดเลือดสมอง
โรงพยาบาลวิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
โทร: 02-441-7899  หรือ1792
แผนที่: ใกล้พุทธมณฑล – หนองแขม – อ้อมน้อย
นัดหมายออนไลน์: Line