สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง

ภาวะคลอดก่อนกำหนดถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ ถือเป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงท้องทุกคน  ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายรายรู้สึกกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า แล้วภาวะคลอดก่อนกำหนดเกิดจากอะไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิชัยเวชฯ​ อ้อมน้อย รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคุณแม่ตั้งครรภ์มาฝากกัน

การคลอดก่อนกำหนด คืออะไร

การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ จะครบกำหนดที่ 38-41สัปดาห์ หรือประมาณ 9 เดือน โดยเฉลี่ยหากคลอดก่อน 37 สัปดาห์ทางการแพทย์ ถือว่าคลอดก่อนกำหนด แต่ทารกที่คลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะไม่พบปัญหาหรือความผิดปกติใด ๆ แต่ทารกที่จะพบปัญหา คือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ๆ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย

สัญญาณเตือน คลอดก่อนกำหนด มีอะไรบ้าง

  • มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ พร้อมกับเวลาที่มดลูกหดตัว อาการปวดท้องลักษณะนี้จะคล้ายกับเวลาที่คุณแม่ปวดท้องประจำเดือน
  • มีอาการมดลุกบีบตัวถี่ เช่น ทุกครึ่งชั่วโมงจะรู้สึกถึงมดลูกบีบตัว ควร
  • มีอาการปวดหลัง โดยจะรู้สึกปวดร้าวไปถึงด้านล่างบริเวณก้นกบ ร่วมกับการปวดท้อง
  • ปวดถ่วงในอุ้งเชิงกราน อาจร้าวไปที่ต้นขา
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด หรือมีระดูขาวออกมา บางครั้งอาจจะมีมูกปนเลือดออกมาด้วย

โอกาสที่จะทำให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด เกิดจากสาเหตุอะไร

1. เกี่ยวกับตัวคุณแม่ หรือโรคประจำตัว

  • คุณแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี
  • คุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โอกาสคลอดก่อนกำหนดก็จะมากขึ้นร้อยละ 50
  • มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครอบครัว ซึ่งควรบอกข้อมูลนี้ให้แพทย์ทราบ
  • คุณแม่ที่แท้งบ่อย หรือเคยผ่านการแท้งมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดสำหรับท้องถัดมามากขึ้น
  • คุณแม่ที่มีมดลูกผิดปกติ มดลูกพิการแต่กำเนิด เช่น มีผนังกั้นภายในโพรงมดลูก หรือมดลูกมีเนื้องอกร่วมด้วย
  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต อาจทำให้ทารกในท้องเจริญเติบโตได้ไม่ดี และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้

 2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

  • คุณแม่ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนดได้
  • คุณแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • คุณแม่ที่ทำงานหนักจนเกินไป เช่น นั่งนาน ๆ วันละหลายชั่วโมง หรืองานที่ต้องใช้แรงมาก จะทำให้เหนื่อยง่ายและมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง ส่งผลให้ทารกขาดสารอาหารและออกซิเจน ทำให้ทารกตัวเล็ก และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
  • คุณแม่ที่มีภาวะเครียด

3. ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

  • บางรายอาจจะมีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด เนื่องจากคุณแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการ เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือทารกในครรภ์มีการเจริญติบโตที่ผิดปกติ
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • เลือดออกขณะตั้งครรภ์
  • ปากมดลูกหลวม
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด

กรณีที่ 1 : ถ้ามีสัญญาณเตือน หรือภาวะบ่งชี้ของภาวะคลอดก่อนกำหนด แนะนำให้คุณแม่ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ โดยแพทย์จะให้คุณแม่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ถ้าปากมดลูกยังขยายไม่มากก็จะช่วยในการรักษา ทำให้ทารกยังสามารถอยู่ในครรภ์ต่อไปได้ จนใกล้กำหนดคลอดมากที่สุด

กรณีที่ 2  : แต่หากแพทย์ประเมินแล้วแจ้งว่าไม่สามารถหยุดยั้งการหดตัวของมดลูกได้ แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้ปอดของทารกทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสรอดมากขึ้น ยานี้จะได้ผลเมื่อฉีดเข้าไปอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และยาจะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นอาจจะต้องฉีดยาซ้ำ แต่แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในคนไข้แต่ละรายอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ในคุณแม่ทุกรายได้ เช่น คุณแม่ที่น้ำเดิน หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือสงสัยว่าจะมีการอักเสบในร่างกายคุณแม่ จะไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้

เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด อาจส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความพิการหรือเสียชีวิต ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนตั้งครรภ์ หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบทำการฝากครรภ์ โดยเร็วที่สุด และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากพบปัญหาหรือความผิดปกติจะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

การลดความเสี่ยงจากภาวะคลอดก่อนกำหนด

  1. ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ และยังสร้างความระคายเคืองให้มดลูก ทำให้มดลูกบีบตัว และอาจจะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
  2. รักษาโรคช่องคลอดอักเสบ หากคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคช่องคลอดอักเสบ ควรรีบเข้ารับการรักษา เพื่องจากมีผลวิจัยระบุว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคช่องคลอดอักเสบ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สามารถลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้
  3. รักษาสุขภาพเหงือก เนื่องจากโรคเหงือกเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่อาจเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นควรแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน ไปพบหมอฟังอย่างน้อย 1 ครั้งระหว่างตั้งครรภ์
  4. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และรักษาความชุ่มชื่นของร่างกาย เพราะหากร่างกายขาดน้ำอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  6. ทานวิตามินสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การเพิ่มน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์มากจนเกินไป เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะคลอดก่อนกำหนดทั้งสิ้น นอกจากนี้หากคุณแม่น้ำหนักน้อยเกินไป ก็เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยนแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 3-15.8 กิโลกรัม

 

 

ติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792
หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line
หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ