มะเร็งเต้านม รู้ก่อน แก้ไขทัน ป้องกันได้

มะเร็งเต้านม

ถือเป็นโรคที่มีความสำคัญมาก ถือเป็นภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิง เพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก มักไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านม เมื่อมะเร็งลุกลาม จนเต้านมเกิดการอักเสบ เพราะฉะนั้นหากตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และเข้ารับการรักษาได้เร็ว อาจไม่ต้องสูญเสียเต้านม พญ.กรวลี วีระธรากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมเฉพาะทางเต้านม ศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้องและคลินิกมะเร็ง รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องมะเร็งเต้านมค่ะ

ถาม : อาการมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง
ตอบ
: มะเร็งเต้านม เกิดจาการที่เซลล์ในท่อน้ำนมมีความผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นเชื้อมะเร็ง โดยอาการแสดงของมะเร็งเต้านมเริ่มแรงจะมาด้วยอาการ มีก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติบริเวณเต้านม ซึ่งจะพบอาการนี้ในผู้ป่วย 80-90%
ผิวหนังที่เต้านมผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม มีรอยบุ๋มบวมตึง มีผิวหนังที่หน้าคล้ายเปลือกส้ม

  • มีรอยแดง ผื่นคัน
  • มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนม
  • เป็นแผลที่หัวนม
  • เจ็บหรือปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน

 

ถาม : ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง
ตอบ
: ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม อาจเกิดได้จาก

  • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ถ้าในคนเอเชีย หรือคนไทย ช่วงอายุที่เสี่ยงอาจจะอยู่ที่ 35 ปีขึ้นไป
  • ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า
  • มีการทานยาคุมกำเนิดมากกว่า 5 ปี
  • มีประวัติครอบครัวหรือมีญาติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • สาวโสด หรือสาวที่มีลูกช้า

 

ถาม : เมื่อไหร่ควรเข้ามารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ตอบ
: การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำว่าผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่อายุ 35- 40 ปีขึ้นไป

ถาม : วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมมีกี่วิธี และแต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ : การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม หลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี

  1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่แนะนำให้คลำเต้านมเวลาอาบน้ำ รวมถึงดูลักษณะขอเต้านมว่ามีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
  2. ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์
  3. ตรวจเอกซเรย์เต้านม โดยการแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์

การตรวจในข้อ 2 และ 3 แนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป โดยตรวจปีละ 1 ครั้ง

 

ถาม : กรณีตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม การรักษามะเร็งเต้านมจำเป็นต้องตัดนมทิ้งหรือไม่อย่างไร
ตอบ : การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี สามารแบ่งได้เป็น 3 วิธีหลัก ๆ

  1. การรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัด ถือเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยปราศจากชิ้นเนื้อมะเร็งซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายจนทำให้สุขภาพทรุดโทรมถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จะมีทั้ง
    -การผ่าตัดแบบตัดทั้งเต้านม สามารถผ่าตัดเสริมเต้านมทดแทนในคราวเดียวกันได้อีกด้วย
    -การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตัดทั้งเต้านมออกไป
    ซึ่งในการผ่าตัดเต้านม ต้องมีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (Lymph Node Dissection) ไปตรวจในคราวเดียวกัน เป็นอีกรูปแบบการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม และยังเป็นการผ่าตัดเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมด้วย เพียงแต่ตำแหน่งในการทำหัตถการจะเป็นต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ซึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหลายท่านจะตรวจพบเชื้อมะเร็งที่ตำแหน่งนี้เป็นที่แรก
  2. การรักษามะเร็งเต้านมโดยการให้ยา จะมีทั้งการให้ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยามุ่งเป้า หรือในปัจจุบันก็จะมียาภูมิคุ้มกันบำบัด
  3. การรักษามะเร็งเต้านมโดยการฉายแสง   (Radiation Therapy) เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง มักใช้การฉายแสงร่วมในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือผู้ป่วยที่มีมะเร็งลุกลามมาที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อหน้าอก โดยทั่วไปมักทำภายหลังการผ่าตัด แต่ในกรณีก้อนขนาดใหญ่อาจใช้การฉายแสง เพื่อลดขนาดก้อนก่อนการผ่าตัดก็ได้

ถาม : กรณีผู้ป่วยตัดเต้านมไปแล้ว 1 ข้าง จะมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างที่เหลือได้ไหม หรือรักษาหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นได้อีกไหม
ตอบ
: ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้ว 1 ข้าง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่งได้ โดยมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า เพราะฉะนั้นแม้จะรักษามะเร็งเต้านมจนหายแล้ว ก็ยังต้องเข้ามาคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

ถาม : มะเร็งเต้านมถ่ายทอดทางพันธุกรรมไหม
ตอบ :
มะเร็งเต้านมถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ถ้ามียีนทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ซึ่งการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะต้องเป็นญาติสายตรง คือ พ่อแม่พี่หรือน้อง เนื่องจากถือว่าเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกัน

ถาม : วิธีป้องกันตัวเองให้ไม่เป็นมะเร็งเต้านม ควรทำอย่างไร
ตอบ
: วิธีป้องกัน คือ

  • ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยตนเอง หรือตรวจโดยแพทย์
  • ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การทานยาคุมกำเนิด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ถาม : ใส่ชุดชั้นในที่เป็นโลหะ ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจริงไหม
ตอบ :
ไม่จริง แต่ชุดชั้นในที่เป็นโลหะ หากใส่แล้วเกิดการเสียดสีบริเวณเต้านมบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดเนื้อเต้านมตาย เมื่อไปเอกซเรย์อาจทำให้เห็นหินปูนที่ผิดปกติเกิดขึ้นได้ ทำให้อาจสับสนกับตัวก้อนมะเร็ง แต่ในความจริงเรื่องของชุดชั้นใน ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

 

 

พญ. กรวลี วีระธรากุล
แพทย์เฉพาะทางศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้อง  คลินิกเต้านม
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย


ติดต่อ รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
02-441-7899  ต่อ 1111 , 3124 หรือ1792
ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ